วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Lean… “รีด” ประสิทธิภาพออกมาให้ได้มากที่สุด จากการลด “สูญเสีย/สูญเปล่า” ในทุกประเด็น

Lean… “รีด” ประสิทธิภาพออกมาให้ได้มากที่สุด จากการลด “สูญเสีย/สูญเปล่า” ในทุกประเด็น

วันนี้มีโอกาสดี
ที่ได้ฟังผู้เชี่ยวชาญด้าน “ลีน” LEAN
คุยความสำคัญและประเด็นสำคัญของการปฏิบัติ “ให้เข้าใจ” ภายในครึ่งวัน

ต้องบอกว่า ...
“สุดยอด” ครับผม
ลัดสั้น เข้าใจ(หัวใจ) และสามารถ “ต่อยอด” ทางความคิดได้อย่างดียิ่ง
ขอบพระคุณอย่างสูง




พอพูดถึง “ลีน” Lean นั้น...
ผมมักนึกถึงคำว่า “รีด” ศักยภาพออกมาให้ได้เต็มที่



ลองนึกถึงเวลาคุณพยายาม “รีดยาสีฟัน” ออกจากซองหรือถุงยาสีฟันให้ได้มากที่สุดดูครับ
เห็นภาพชัดเจนดี
เพราะหากคุณ “รีดไม่หมด” มันก็จะตกค้างเป็น “ของทิ้ง/ของเสีย” ทันที
ผมว่า “ลีน” Lean ก็มีภาพคล้ายๆกัน

นิยามง่ายๆของ lean คือ ...
การจัดการให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่มี “การสูญเสีย/การสูญเปล่า” น้อยที่สุดนั่นเอง

ซึ่งเมื่อพูดถึง lean แล้วก็ต้องมีเรื่อง “การสูญเสีย” หรือ Waste มาเกี่ยวข้องทันที
และจะว่าไปแล้ว มันอาจจะครอบคลุมกว้างกว่านั้น



โดยหากมองในแง่ “การสูญเสีย/การสูญเปล่า” จะต้องดู 3 เรื่องด้วยกัน
หรือ ที่เรียกว่า 3M
-Muri คือ การทำงานเกินกำลัง Overburdened
-Mura คือ ความไม่สม่ำเสมอ Variation
-Muda คือ ความสูญเสีย หรือ Waste นั่นเอง

และสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆเกี่ยวกับการทำเรื่อง lean ได้แก่...
“การดึง” หรือ Pull...
พูดด้วนๆอย่างนี้ ก็งงแน่นอน
ว่ากันง่ายๆคือ ...
การเอาความต้องการของลูกค้า หรือ Customer requirement
เป็น “ตัวตั้ง” ในการกำหนดการทำงานนั่นเอง



หรือกล่าวอีกนัยคือ...
การเอาความต้องการของลูกค้า เป็นตัวตั้งในการ “ดึงงานออกมาจากระบบ”

จริงๆเรื่อง lean นี่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์” ของทั้งลูกค้าและองค์กรเรา
มีรายละเอียดที่ต้องว่ากันอยู่หลายเรื่อง
ดังนั้น องค์กรที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือยังไม่ได้ทำเรื่องลีน
น่าจะลองเอาเรื่องนี้พิจารณาดูกันในรายละเอียดว่า...
สามารถสร้างประโยชน์ใดให้กับบองค์กรบ้าง



ซึ่งผมเชื่อว่า...องค์กรจะได้ประโยชน์จากเรื่องลีนอย่างมากมายแน่นอน
หากนำมาทำกันอย่างจริงจัง

...................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Glocalization คำศัพท์ที่บางท่านยังไม่คุ้นเคย...แต่ควรจะต้องรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Development

Glocalization คำศัพท์ที่บางท่านยังไม่คุ้นเคย...แต่ควรจะต้องรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Development

ผมว่าทุกคนจะคุ้นเคยกันดี
กับคำว่า “โลกาภิวัฒน์” หรือ Globalization
ซึ่งก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปพิจารณา



ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภาพนอก External Analysis
ในส่วนการจัดการกลยุทธ์ Strategic Management

แต่มีอีกคำหนึ่ง...
ที่ผมว่าหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย
คือคำว่า “Glocalization”
ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะแปลให้ตรงคำจำกัดความและครอบคลุมความหมายได้อย่างไร(?)


หากดูจากรากศัพท์แล้ว...
ก็คงเดาไม่ยากว่า มากจากคำว่า...Global- และ Local- นั่นเอง




คำว่า Global- คงหมายถึง ภาพกว้างแบบครอบคลุมทั้งโลก
หรือ การกระจายออกไปเพื่อให้ครอบคลุมทั้งโลก



ส่วนคำว่า Local- ก็หมายถึง ภาพที่จำเพาะเจาะจงไปที่พื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง
เช่น หมู่บ้านหนึ่ง อำเภอหนึ่ง จังหวัดหนึ่ง หรือ อาจหมายถึง ประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้(ในทางธุรกิจ)

ดังนั้น...
โดยความหมายของ “Glocalization” นั้น
ก็จะหมายถึง การสร้างการเติบโตของธุรกิจหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อกระจายออกไปขายทั่วโลก
โดยยึดเอาความเป็นท้องถิ่น(วัฒนธรรมท้องถิ่น/วัฒนธรรมของประเทศที่จะส่งไปขาย) เป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์และพัฒนาสินค้าหรือรูปแบบโมเดลธุรกิจ

บางท่านก็ว่า... “Glocalization” เกิดมานานแล้ว ใช้โมเดลนี้มาเป็นช่วงเวลาเกิน 30 ปี
บางท่านก็ว่า...โมเดลนี้ เกิดมาจากบริษัท Honda (โดยส่วนตัวผมเองไม่แน่ใจนะครับ)

ยังไงก็ตาม...
ผมว่า เอาตรงประเด็น “แนวความคิด” ของโมเดล “Glocalization” ไปใช้ดีกว่า
ที่มาอย่างไร หรือ จะเกิดมานานแค่ไหน...อันนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก

มีตัวอย่างหนึ่งที่ทางฝรั่งได้วิเคราะห์ถึงการนำไปใช้ของโมเดลนี้ ได้แก่




การที่บริษัทสร้างผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงขึ้นมา เพื่อขายไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว
แล้วหลังจากนั้น ก็ทำการพัฒนารูปแบบใหม่(จากสินค้าเดิม)
ที่มุ่งเป้าหมายไปขายในประเทศอื่นๆ(กระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วโลก)
โดยในกระบวนการพัฒนาสินค้าใหม่ ก็นำเอา “ความเป็นท้องถิ่นของประเทศที่ต้องการจะขายสินค้า” มาประกอบในกระบวนการ
เพื่อให้ได้สินค้าที่ตอบสนองความต้องการจริงของประเทศนั้นๆ




....
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เมื่อถึงจุด “อิ่มตัว” Product Maturity...ก็ถึงเวลา “พัฒนา” (อะไรบางอย่าง)

เมื่อถึงจุด “อิ่มตัว” Product Maturity...ก็ถึงเวลา “พัฒนา” (อะไรบางอย่าง)

ในเชิงการตลาดของทุกธุรกิจ
เรามักจะพูดกันถึง “วงจรผลิตภัณฑ์” PLC – Product Life Cycle
ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่
ช่วงเริ่มต้น – ช่วงเติบโต – ช่วงอิ่มตัว และ ช่วงถดถอย(ลงต่ำ)

แต่ละช่วงระยะเวลาของวงจรผลิตภัณฑ์นั้น
มันมีกิจกรรมที่ต้องทำแตกต่างกันไป
และแน่นอนว่า...กระบวนการ “ใช้จ่ายเงิน” ก็ให้น้ำหนักในแต่ละกิจกรรม “มาก/น้อย” ต่างกัน

อีกประเด็นก็คือ...
นักการตลาดต้องทำงานในเรื่องสำคัญ หรือ เรื่องที่ต้องเน้นหนักพิเศษแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงระยะ
เช่น...
ช่วงเติบโต...กลยุทธ์ก็จะเน้นไปด้าน “ขยายตลาด” มากขึ้น
โดยอาจใช้วิธีปรับปรุงด้านผลิตภัณฑ์ หรือ อาจใช้การขยายตลาดใหม่ๆ ด้วยการเจาะตลาด เป็นต้น
ส่วนช่วงอิ่มตัว...ก็จะใช้กลยุทธ์ที่ต่างออกไป ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับ “การพัฒนา” มากกว่า



เมื่อกล่าวถึง “การพัฒนา” ในช่วงของการอิ่มตัว
คงจะพอมีแนวทางในการพัฒนาอยู่ 3 ด้านด้วยกัน
ได้แก่...
1. พัฒนาตลาดใหม่ New Market Developing
โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดที่ยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ หรือ...
การเจาะตลาดคู่แข่ง
หรืออีกวิธีคือ การเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในมุมใหม่ๆร่วมด้วย

2. พัฒนาส่วนประสมทางการตลาด Marketing Mix
โดยวิธีนี้ คือ ใช้หลายๆประเด็นร่วมกัน เช่น...
การลดราคา ร่วมกับการเพิ่มการโฆษณาประชาสัมพันธ์
หรือ การใช้งานบริการเข้ามาร่วมกับการทำส่งเสริมด้านการขาย Sales promotion

3. พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ Product Developing
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงอิ่มตัวนี้ แตกต่างจากช่วงเติบโต
เพราะช่วงนี้จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่สร้างความแตกต่างมากกว่าเดิม
เช่น การเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานผลิตภัณฑ์ Claim
การเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน ในรูปแบบใหม่ๆ
เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบใดๆก็ตาม
เป้าประสงค์ของธุรกิจคือ...
การ “ยืดอายุ” ของช่วงการอิ่มตัวของผลิตภัณฑ์นี้...
ให้ “ยาวนาน” มากที่สุด
ไม่ให้มันไหลเข้าสู่ช่วงถดถอย หรือช่วงตกต่ำของสินค้านั่นเอง



......
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

3 ส่วนสำคัญที่ “ต้องรู้” ในการสื่อสาร หรือ นำเสนอ Presentation

3 ส่วนสำคัญที่ “ต้องรู้” ในการสื่อสาร หรือ นำเสนอ Presentation


คงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง
เกี่ยวกับการสื่อสารที่ดี หรือ การนำเสนออย่างมีประสิทธิผล
ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง


และคิดว่าท่านคงเคยคุ้นๆกับ 3 ส่วนสำคัญที่ต้องรู้...
ในการสื่อสารหรือนำเสนอให้เกิดผล/ประสิทธิผลมากที่สุด


ผมขอเรียกว่า 3 V ที่ “ต้องรู้” ของการสื่อสาร/นำเสนอให้สัมฤทธิ์
อันได้แก่...


1. Verbal
หมายถึง เรื่องราวที่เราอยากจะสื่อสารออกไป
หรือจะเรียกว่า “เนื้อหา” ของเรื่อง ก็ได้

2. Vocal
หมายถึง วิธีการที่เราพูดเรื่องราวนั้นๆออกไปสู่คนฟัง
เอาง่ายๆก็คือ “น้ำเสียง” ในระดับต่างๆที่เราใช้พูดนั่นเอง

3. Visual
หมายถึง “ตัวคุณเอง” นั่นเอง
ตรงนี้อาจครอบคลุมหลายส่วน
แต่ที่แน่ๆคือ “บุคลิกภาพ” ของคนพูด
ลักษณะท่าทางขณะการพูด
หรือให้ครอบคลุมมากขึ้น ก็คงรวมไปถึง...
สิ่งต่างๆที่คนฟัง “มองเห็น” นั่นเอง





ทั้ง 3 ส่วนนี้มีความสำคัญต่อการสื่อสารให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมาก
โดยการศึกษาสัดส่วนที่เหมาะสมต่อความสำเร็จในการศึกษานั้น
พบว่า...
แต่ละส่วนมีน้ำหนักที่ต้องให้ “ไม่เท่ากัน”


ส่วนของ “เรื่องราว” ให้น้ำหนักที่ 7% Verbal
ส่วนของ “น้ำเสียง/การพูด” ให้น้ำหนักที่ 38% Vocal


และส่วนที่สาม ซึ่งถือเป็นส่วนที่ให้น้ำหนักมากที่สุดถึง 55% คือ...
ส่วนของ “บุคลิกภาพ” และสิ่งที่คนฟังมองเห็นได้ Visual

ดังนั้น...ครั้งหน้าที่ท่านมีโอกาสสื่อสาร/นำเสนอ
ก็อย่าลืมให้น้ำหนักแต่ละส่วนอย่างเหมาะสมด้วยนะครับ

...
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์การแข่งขัน Competitive Analysis ของเราและคู่แข่ง ด้วย Model 3 ด้าน

การวิเคราะห์การแข่งขัน Competitive Analysis ของเราและคู่แข่ง

แน่นอนว่า...
การแข่งขันในตลาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจชนิดใดก็ตาม
เราต้องวิเคราะห์การแข่งขัน
และการวิเคราะห์การแข่งขันนั้น มีหลายมิติที่ต้องวิเคราะห์อยู่เหมือนกัน
ต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก...
ต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน...
ต้องวิเคราะห์คู่แข่งขัน...
ต้องวิเคราะห์องค์กรเราเอง...ว่ามีความสามารถในการแข่งขันในระดับใด

ความสำคัญของการวิเคราะห์ ก็คือ...
เพื่อนำไปสู่ “การสร้างกลยุทธ์” หรือ เรียกง่ายๆว่า “แผนงาน” หรือ แผนธุรกิจ ขององค์กร
และเมื่อมีแผน...ก็มีโอกาสในความสำเร็จหรือ “ความได้เปรียบ” ในการแข่งขันนั่นเอง

การวิเคราะห์การแข่งขันเองก็สามารถใช้ได้หลายแนวทาง หรือ โมเดล Model
โมเดลหนึ่ง ที่อยากจะแนะนำให้องค์กรท่านลองใช้ดู คือ...
โมเดล Value Discipline Triad ของ Michael Treacy


โดยโมเดลนี้ มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม สามมุม
ประกอบด้วย 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1.   Product Leadership – PL
หมายถึง องค์กรที่มีความสามาถหลัก หรือ จุดเด่นในเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ Product ที่มีประสิทธิภาพสูง มีความทันสมัย หรือ สร้างผลิตภัณฑืที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน Product Differentiation
ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ Apple

2.   Operation Excellence – OE
หมายถึง องค์กรที่เน้นในด้าน “ต้นทุนต่ำ” เพื่อการแข่งขันในตลาด โดยความสามารถหลักคือ การหากระบวนการหรือวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ แล้วออกจำหน่ายในราคาที่ถูก
เช่น พวกห้างที่ขายสินค้าสะดวกซื้อต่างๆ

3.   Customer Intimacy – CI
หมายถึง องค์กรที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า Customer focus and Response โดยมีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อแก้ไขปัญหาลูกค้า หรือ ทำให้ลูกค้าพอใจแล้วเกิดความจงรักภักดีต่อสินค้าและองค์กร


จะว่าไปแล้ว...
หลังๆมานี่ แต่ละองค์กรก็พยายามสร้างตนเองให้เน้นไปที่ความต้องการของลูกค้ากันทั้งนั้น
ประเด็นคือว่า...
ใครที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้จริง “ตามความรับรู้ของลูกค้า”
นี่ต่างหากที่จะเรียกว่าอยู่ในด้านที่ 3 หรือ CI


ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประสบการณ์ที่ดี... สร้างความภักดีกับตราสินค้า Experience Effect

ประสบการณ์ที่ดี... สร้างความภักดีกับตราสินค้า Experience Effect

หากกล่าวถึง “ญี่ปุ่น” แล้ว...
สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือ... “การทำ Displays หน้าร้านค้า”
แทบทุกร้านค้าของญี่ปุ่น จะต้องมีการทำโชว์ หรือ ที่ผมเรียกว่า Displays เสมอ
และที่สำคัญกว่านั้นคือ...
“สวย น่าสนใจ และประทับใจ”

http://www.visualphotos.com/photo/1x9467828/Plastic_food_model_at_restaurant_Japan_Many_YV4-1356520.jpg

สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ของการทำ Displays คือ...
“ประสบการณ์” ของลูกค้า Customers
...หรือ ผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า Prospect
เหตุเพราะเรื่อง “ประสบการณ์” นี่เอง นับเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่งของการสร้างแบรนด์
หรือ ตราสินค้า (Branding) ซึ่งใครๆก็อยากให้คนจำสินค้าของบริษัทได้
เพื่อนำไปสู่ “ความภักดี” ในแบรนด์และสินค้า Loyalty ในที่สุด

ว่ากันในแง่หลักการแล้ว
Displays ก็ถือว่าจัดอยู่ในเรื่อง Promotion ของ 4Ps ทางการตลาด
หรือจะเอาศัพท์ที่ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย ก็คือ เรื่อง IMC
Integrated Marketing Communication
เนื่องจากการทำ Displays นั้น
จะมุ่งไปที่การรับรู้ของผู้ที่เป็นเป้าหมาย แล้วสะท้อนออกมาทางด้านอารมณ์และการกระทำ(เข้ามาซื้อของ)
ถือเป็นการทำ IMC ได้หลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็น...
PR ประชาสัมพันธ์
Advertising โฆษณา
Promotion ส่งเสริมการขาย
ซึ่งผมถือว่าเป็นการสื่อสารที่ได้ผลดีทีเดียว

เพียงแต่ประเด็นคือ...ทำได้ “โดน” แค่ไหน?
ของเมืองไทยก็เห็นอยู่บางแห่งที่ทำได้ “โดน” แต่ผมถือว่ายังน้อยไป
และ Marketers เมืองไทยต้อง “ทำการบ้าน” มากกว่านี้
แต่ที่ญี่ปุ่นนี่... แทบทุกร้านเลยก็ว่าได้ ที่ทำแล้ว “โดนใจ”
ที่ว่า “โดน” นี่ ต้องวัดกันที่เรื่อง “อารมณ์ที่สะท้อนออกมาเป็นการกระทำ” นะครับ
อย่างที่ว่าไว้ก่อนหน้านี้...
ต้องอยากซื้อหรืออยากใช้บริการนั่นเอง
เรียกว่า หากไปดูตามขั้นบันไดของการซื้อ Buying ladder แล้ว
ก็ต้องขึ้นไปถึงขั้นสูงๆเลย
ผู้(จะ)ซื้ออาจต้องไปถึงขั้น มี “ความต้องการ” เลยที่เดียว Desire
นี่แหล่ะครับ ถึงจะเรียกว่า “โดน” จริงๆ

อีกคำหนึ่งที่มีนัยใกล้เคียงกันคือ Touch-points
ซึ่งอาจจะเห็นบางคนใช้คำนี้
แต่เรื่อง Touch-points นั้นจะให้ความหมายที่กว้างกว่ามาก
แทบจะใช้แทน IMC ในบางมุมเลยก็มี


ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Lateral Thinking – การคิด “คิดแนวข้าง” เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ

Lateral Thinking – การคิด “คิดแนวข้าง” เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ

ครั้งที่แล้วว่ากันในเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” Creativity
ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับ การคิดแบบสร้างสรรค์ Creative thinking
ทำให้นึกถึงแนวความคิดหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน คือ...
“การคิดแนวข้าง” หรือ Lateral Thinking

ช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา...
เป็นยุดของการอ้างอิง “ความคิด” Thinking อยู่เยอะมาก
ไม่ว่าจะเป็น...
Systemic thinking
Analytic thinking
Creative thinking
และอีกมากมาย แล้วแต่จะตั้งชื่อกันไป ซึ่งรวมถึง Lateral thinking นี่ด้วย


หากจะกล่าวกันถึง Lateral thinking นี้ ต้องพาดพิงไปถึง Creative thinking ด้วย
เพราะมันคล้ายๆกัน หรือ มีส่วนที่อ้างอิงกันและกันอยู่
คนที่คิดเรื่องนี้ คือ Edward De Bono
ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง Creative thinking ว่า มีอันตราย หรือ ปัญหาได้
อย่างเช่น คนที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว อาจจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกมากเกินไปในการคิดให้เกิดสิ่งใหม่ๆที่สร้างสรรค์ออกมา...
หรือ อาจจะมุ่งอยู่กับความคิดสร้างสรรค์นั้นๆจนไม่มองมุมอื่นๆที่อาจสร้างสรคค์น้อยกว่าแต่มีประโยชน์มากกว่า...
หรือ การให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆออกมา ทำให้คนๆนั้นกลายเป็นพวกที่มีอัตตาตัวตนสูงมาก จนไม่ฟังใครเลยก็เป็นได้
หรือที่น่ากลัวคือ...เมื่อเอาความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ได้สักพัก พอเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมา ก็อาจจะเลิกกลางคันเลยก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างไรท่านอาจารย์เองก็แนะนำว่า...
แนวความคิดทั้งสองนั้น (Creative thinking และ Lateral thinking) ต้องใช้ “เสริมซึ่งกันและกัน”

โดยหลักการแล้ว “คิดแนวข้าง” Lateral thinking นั้นมีประโยชน์มากกว่า
เพราะนอกจากจะตั้งอยู่บน เทคนิคและทักษะในการสร้างความคิดแล้ว
ยังต้องมีเรื่อง “เจตคติ” กำกับด้วย เช่น...
เจตคติในการตระหนักว่า “การยึดติดกับมุมมองที่ตายตัว” นั้น มีอันตราย
เจตคติในการตระหนักว่า “การกักขังทางแนวความคิด” นั้น มีอันตราย
เจตคติที่ต้องตระหนักถึง “ความจำเป็น” ที่จะต้องหาวิธีสำหรับทำสิ่งต่างๆในแบบที่ “ต่างไปจากเดิม”
เจตคติในการตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการคิดแนวข้างกับการคิดแนวตั้ง
เป็นต้น

การคิดแนวตั้ง
จะเกี่ยวข้องกับการประมวลผลและคิดคำนวณ
และมุ่งที่จะนำแนวคิดต่างๆ(ที่ได้มา) ไป “ปฏิบัติจริง”
นั่นย่อมแสดงว่า...การคิดแนวตั้ง ต้องอาศัย การคิดแนวข้าง ในการ “สร้างแนวคิดที่มีประสิทธิผล” ให้ก่อนนั่นเอง
การคิดแนวข้าง
เกี่ยวข้องกับการจัดแบบแผน การสร้างทางเลือก และ วิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหา
นั่นคือ จะเลือกแนวความคิดต่างๆ(ที่มีประสิทธิผล)

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า แนวคิดทั้งสอง (การคิดแนวตั้งและคิดแนวข้าง) เป็นสิ่งจำเป็น และจะต้องใช้เสริมกันในการปฏิบัติจริง

ในประเด็นสุดท้าย... หากเราตั้งว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือ บริบทกว้างๆ Context
การคิดแนวข้าง Lateral thinking อาจเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการสร้างแนวคิดใหม่ๆที่สร้างสรรค์ในการจัดการงานหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล
แต่คงต้องบอกว่า “การหาแนวทางสร้างสรรค์” ในบริบทกว้างๆนี้ อาจจะมีเครื่องมืออื่นๆที่นำมาใช้ได้เหมือนกัน
และเชื่อว่าในอนาคตก็คงมีคงพัฒนา “เครื่องมือ” ออกมาใช้กันอีกหลายตัวอย่างแน่นอนครับ

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

สนใจอ่านเรื่อง Lateral thinking เพิ่มเติมในรายละเอียด
อ่านได้ที่หนังสือ “คิดแนวข้างสำหรับนักบริหาร” แปลและเรียบเรียงโดย ยุพา รักไทย และ ธนิกานต์ มาฆะศิรานนท์ ของสำนักพิมพ์ Expernet

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Creativity ความคิดสร้างสรรค์นั้น... “สร้างได้”

Creativity ความคิดสร้างสรรค์นั้น... “สร้างได้”

เมื่อกล่าวถึง “ความคิดสร้างสรรค์”
มักมีแบบฝึกหัดให้พวกเราได้ลองปฏิบัติอยู่หลายๆแบบ
บางรูปแบบก็ดูแปลกๆพิกล เช่น...
ให้คิดนอกกรอบ...
ให้คิดเล่นๆ อย่าจริงจัง...
ให้คิดแบบหลุดโลก...
ให้คิดแบบที่เป็นไปไม่ได้...
ฯลฯ อีกมากมายหลายแบบที่มีให้เลือกฝึกฝนตนเอง

http://www.creativeclass.com/_v3/creative_class/_wordpress/wp-content/uploads/2009/10/creativityletters.jpg

ผมชอบแนวคิดจากหนังสือ “คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก” อย่างหนึ่ง
ซึ่งแนะนำวิธี “พัฒนาความคิดสร้างสรรค์” ไว้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่
1.   ยอมรับความคิดใหม่
โดยต้องเริ่มจาก “ทำลายความคิดที่ต่อต้าน” เสียก่อน เช่น คำว่า “ทำไม่ได้” หรือ “ไม่มีประโยชน์”
หลังจากนั้น ให้ทำตัวเหมือนดั่ง “ฟองน้ำ”
เพื่อดูดซับความคิดใหม่ๆดีๆอยู่เสมอ

2.   เป็นนักทดลอง
หลักการง่ายๆคือ...
ทำอะไรที่ “ไม่ใช่งานประจำ” นั่นเอง
อ่านหนังสือใหม่ๆ...
หาเพื่อนใหม่...
ไปในที่ใหม่ๆ...

3.   เป็นคนหัวก้าวหน้า อย่าถอยหลัง
ให้เลิกใช้วิธีแบบเดิมๆในการทำงาน
เลิกแนวคิดที่ว่า “งานแบบนี้ผมเคยทำแบบนี้สำเร็จมาแล้ว ดังนั้น ให้ทำแบบเดิมนี่ล่ะ ถูกต้องแน่นอน”...เลิกซะ!
ฝึกคิดให้แนวทางที่ว่า “จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร?” จะดีกว่า

“วิธีตั้งคำถาม” ก็ถือเป็นส่วนที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน
เอาง่ายๆ จากตัวอย่างที่ชัดๆ คือ...
คำถามที่ว่า “จะทำสิ่งนี้ได้หรือไม่?” ...ไม่ได้ช่วยส่งเสริมความคิดเลย
ดูไปแล้ว...อาจจะทำลายความเชื่อมั่นของตนเองไปเสียด้วยซ้ำ
การตั้งคำถามควรจะเป็น...
“จะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?” (How?)
อย่างนี้จึงจะเป็นคำถามที่จะช่วยส่งเสริมให้เราได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

..........
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ