วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

องค์กรเพื่อการ “ร่วมประสาน” - Matrix Organization


องค์กรเพื่อการ “ร่วมประสาน” - Matrix Organization

หลายสัปดาห์ก่อนมีอีเมล์เข้ามาถามเกี่ยวกับ “Matrix Organization
ซึ่งผมมีบทความฉบับเก่าๆที่เขียนไว้นานแล้ว ที่กล่าวถึงข้อดีของการจัดการแบบนี้
ก่อนอื่นเลยต้องขอ “ขอบคุณ” อย่างมากที่อ่านบทความผมแล้วมีคำถามส่งกลับมา
เชื่อว่า...จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นๆด้วยครับผม

ผมขอใช้คำไทยๆเกี่ยวกับ Matrix Organization ว่าเป็น...
องค์กรเพื่อการ “ร่วมประสาน” ก็แล้วกันนะครับ
เพราะภาพที่เราเห็นจากการทำแบบนี้ จะมี การร่วมงาน การประสานงาน การเกี่ยวพันกัน ตลอดเวลา
ซึ่งจะว่าไปแล้วผมว่า ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่...ก็ทำ Matrix ได้ทั้งนั้น
แต่รูปแบบของ Matrix ต่างหากครับ ที่ “เป็นประเด็น”



บางรูปแบบของ Matrix นั้น...ก็มีรูปแบบการทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่าย
หรือที่คุ้นกันในคำว่า ‘Cross functional team’
แบบนี้ผมก็ว่าเป็น Matrix...

หรือบางรูปแบบ Matrix ก็ทำการร่วมประสานเฉพาะส่วนการจัดการที่ Middle management
ซึ่งก็หมายถึงว่า คนทำงาน(ระดับแถวหน้า)จะมีหัวหน้าระดับกลาง(ผู้จัดการแผนก)ดูแลอยู่หลายคน
อันนี้ก็แบบหนึ่ง...

หรือ อย่างที่ P&G ในยุคของ A.G. Lafley(อดีต CEO) ก็มีการใช้รูปแบบ Matrix
โดยการให้ทุกแผนกงาน (เช่น การตลาด การบัญชี เป็นต้น) นั่งใกล้ๆกัน...
เพื่อประสานงาน พูดคุยกันทันที เมื่อมี “ประเด็น” ที่ต้องจัดการหรือประสานงานในขั้นตอนต่อเนื่องกัน
ผลดี ก็คือ...
-งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นเลิศ
-งานเกิดความรวดเร็วและถูกต้อง (ไม่ต้องตามแก้ไขกันบ่อยๆ)
-เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น (Trust) เพราะคุยกันมากขึ้น
-องค์กรมีการทำงานในรูปแบบ Team-working ประสานงานกันง่าย รวดเร็ว สอดคล้อง

หรือบางตำราก็ตั้งต้นที่ “ฝ่ายการตลาด” ในการทำ Matrix
ซึ่งเรียกกันว่า Total Integrated Marketing
ดูจากชื่อก็น่าจะเห็นภาพว่า...
เป็นการทำการตลาดแบบ “บูรณาการองค์รวม”
ซึ่งดูแนวทางลึกๆแล้วก็จะเห็นว่า เป็นการ “ร่วมประสาน” ระหว่างหน่วยงานต่างๆในองค์กรเช่นเดียวกัน

อีกรูปแบบหนึ่งที่ผมว่าไม่ค่อยมีใครทำเท่าไร...
จะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ใช่...
จะว่าเป็นเรื่องที่ “สำเร็จได้ยาก” ก็ใช่เช่นกัน
นั่นคือ...การสร้าง “นวัตกรรม” กลยุทธ์ หรือ Strategy Innovation
(ไม่ได้เขียนผิดนะครับ เพราะมันมีความแตกต่างจากคำว่า Strategic Innovation...ไม่เหมือนกันนะครับ)
เป็นการ “แต่งตั้ง” กลุ่มงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบ “ร่วมประสาน” หรือ Matrix(Creative) group ขึ้นมา เพื่อค้นหา “นวัตกรรม” ให้กับองค์กร
ชื่อเฉพาะของกลุ่มคือ Discovery group (กลุ่มค้นหาสิ่งใหม่ๆนั่นเอง)
การทำ Matrix แบบนี้ผมว่าน่าสนใจมาก...เพราะเป็นการทำให้องค์กรมีนวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อไปในอนาคต...
เพียงแต่อย่างที่บอกครับว่า... “ทำยาก” เนื่องจากต้องอาศัย “ความร่วมมือสูงสุด”
จากระดับสูง
และจากระดับผู้จัดการ
และจากระดับคนปฏิบัติงาน
และจากคนนอกหรือที่ปรึกษาด้วย
เรียกได้ว่า “ความร่วมมือ 360 องศา” เลยทีเดียว
ก็อย่างว่าครับ...ของที่ทำยากก็ย่อมยั่งยืนมากกว่าเป็นธรรมดา

ดังนั้น ...
หลายองค์กรก็มีความอยากที่จะทำ Matrix organization
ซึ่งก็ต้องเริ่มทำ...แม้จะเริ่มความสำเร็จจากจุดหรือกลุ่มเล็กๆในองค์กร
เพราะความสำเร็จเล็กๆนั่นล่ะครับ...
จะขยายผลสู่ความสำเร็จทั้งองค์กรได้ในอนาคต
(หากยังยืนหยัดสู้ต่อไปได้...สู้กับอุปสรรคและผลลัพธ์ที่อาจจะมาช้าในบางครั้ง)

..................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำไม...การเป็นเจ้านายตนเอง หรือ ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) – จึงดีกว่า (?)


ทำไม...การเป็นเจ้านายตนเอง หรือ ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) – จึงดีกว่า (?)

เรื่องนี้...
ผมว่าคนที่เป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว..คงตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด

ทำงานหนักกว่า...
ได้เงินมากกว่า...
และ มีความสุขมากกว่า...การเป็น “ลูกจ้าง” หรือ พนักงานบริษัทใหญ่ๆ
อันนี้มาจากงานวิจัยสำรวจที่สหรัฐอเมริกา

ข้อดีของการเป็นเจ้านายตนเองหรือ “ผู้ประกอบการ” นั้น
Zimmerer and Scarborough ได้สรุป “โอกาสดีของการเป็นผู้ประกอบการ”...
ไว้ในหนังสือ Essentials of Entrepreneurship ดังนี้
·       โอกาสที่จะกำหนดชะตาชีวิต/เส้นทางของตนเอง
มีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ...
และสร้างความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองคิดว่ามีความสำคัญ
สร้างสิ่งที่ตนเองฝันไว้ให้เกิดเป็นความจริง (ตามวิธีของตนเอง)

·       โอกาสที่จะสร้างความแตกต่าง – ที่สำคัญ
หลายคนเห็นประเด็นที่สำคัญในสังคม ซึ่งคนอื่นๆอาจมองเห็น
คนกลุ่มนี้จึงต้องการสร้างอะไรสักอย่าง(ผ่านการเป็นผู้ประกอบการ)
เพื่อจัดการกับประเด็นเหล่านั้น...
แล้วผลดีก็จะเกิดขึ้นทั้งสังคมที่เขาอยู่(สังคมดีขึ้น)และตัวของเขาเอง(กำไร)
ตัวอย่างเช่น...
Tom Golobic – CEO of GreatAmerica Leasing Corporation
ผู้อพยพถิ่นฐานจากสโลวีเนียมาเป็น “ภารโรง” ที่อเมริกา
ได้สร้างธุรกิจในรูปแบบ ศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อเด็กๆในเมืองที่เขาอาศัยอยู่
โดยมีบริการจัดรถรับส่งเด็กระหว่างโรงเรียนและศูนย์คอมฯด้วย

·       โอกาสที่จะใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็ม 100%
พนักงานบริษัทหลายคนมักรู้สึกถึงงานประจำที่ดูแสนเรียบง่าย ถึงออกจะน่าเบื่อ ไม่ตื่นเต้น
ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เหมือนกับ “ผู้ประกอบการ” ที่ต้องมีเรื่องตื่นเต้นให้พบอยู่แทบทุกวัน
ดังนั้น...
บุคลิกของผู้ประกอบการจึงมักต้องกระตุ้นตนเองได้ดีเพื่อให้ต่อสู้หรือเผชิญกับปัญหาที่เข้ามา
ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องนำใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่หรือมากที่สุด

·       โอกาสที่จะสร้างผลกำไรอย่างที่ตนต้องการ/พอใจ
มีคำกล่าวที่ว่า...
“ผู้ประกอบการโดยส่วนมากจะไม่ได้รวยล้นฟ้า แต่ก็มีความมั่งคั่งมากเพียงพอ”
มีตัวเลขของอเมริกาที่น่าสนใจคือ...
ประมาณ 75% ของคนที่รวยที่สุด 400 คนแรกในอเมริกา ...คือ...
ผู้ที่มาจากการเป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกนั่นเอง (ผู้ที่เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของกิจการตนเอง)
First-generation entrepreneur

·       โอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม(ทั้งสังคมที่ตนอยู่และประเทศ)
เริ่มจากความสุขที่ได้รับจากการเป็นร้านค้า/ผู้ประกอบการในชุมชนที่ตนอยู่
การได้ให้บริการ/ขายของให้กับชุมชน..จนสร้าง “ความเชื่อถือ” จากชุมชน...
นับเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการและมีความสุขกับสิ่งนี้
รวมไปถึงการที่ได้รู้ว่า...
พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้ด้วยดี

·       โอกาสที่จะทำสิ่งที่ตนรักและมีความสุข
สิ่งนี้ชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า...
ผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจตนเองนั้น ย่อมทำในสิ่งที่ตนเองรักและมีความสุข
การได้ทำอย่างนี้ทุกวัน...
อยู่กับธุรกิจหรืองานที่ตนเองรักนั้น คือเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นหลักของการเป็นผู้ประกอบการ
จนมีประโยคที่พูดกันเสมอๆว่า...
“ชีวิตผู้ประกอบการนั้น... งานกับเล่น คือสิ่งเดียวกัน”


…………………..
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ไทย


ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ไทย

อย่างที่กล่าวไว้ในบทความที่แล้วว่า...
SME ไทยนั้นมีบทบาทและความสำคัญต่อเศรษฐกิจรวมของชาติไทยอย่างมาก
คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40% ของ GDP



แต่การดำเนินกิจการให้รุ่งเรืองนั้น...ยังมีประเด็นอยู่หลายประเด็น
ที่ยังคงเป็นตัว “ฉุดรั้ง” ความเจริญเติบโตของ SME ไทย
ดังที่ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” SMEs ได้สรุปไว้ ดังนี้
·       ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ระดับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบการของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
·        ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ทำการผลิตชิ้นส่วน ตามการเขียนแบบของลูกค้าได้ ทำสินค้าตัวอย่างได้ สามารถออกแบบได้จากภาพหรือแคตตาล็อก และสามารถเขียนแบบตามคุณลักษณะที่ลูกค้ากำหนดได้ตามลำดับ แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ในขั้นที่สูงขึ้น เช่น การทำสินค้าต้นแบบ (Prototype Part) มีวิสาหกิจจำนวนน้อยที่มีความสามารถทำได้ ในขณะเดียวกันการใช้บริการการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตจากภายนอกเพิ่มเติมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังมีน้อยและอยู่ในวงจำกัด วิสาหกิจจำนวนมากไม่ได้มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตนเอง จึงทำให้ขาดความสามารถในการพัฒนางานวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น
·        ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยกิจการขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 15 คน มีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำธุรกิจเพียงร้อยละ 10 รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ยังมีน้อย และไม่ได้ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรมการควบคุมการจัดการทั่วไปเป็นหลัก เช่น โปรแกรมระบบบัญชีและการเงิน แต่ยังใช้โปรแกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบจัดการด้านการผลิตและการขายผลิตภัณฑ์โดยตรงค่อนข้างน้อย
·        ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการตลาด
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำตลาดเองหรือมีบริษัทในเครือทำตลาดให้ มีเพียงส่วนน้อยที่จ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดโดยตรง และส่วนใหญ่ยังขาดหน่วยงานการตลาด ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดี ขาดการกำหนดเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน และยังไม่มีการกำหนดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท รวมทั้งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจความพอใจของลูกค้า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ทำการผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของผู้จ้างผลิตและมีความสามารถในการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคปลายทางน้อย ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้ผู้ค้าส่งหรือตัวแทนการค้ามากกว่า
·        ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์
ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีข้อจำกัดอยู่มาก จนเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อวิสาหกิจทั้งระบบปัญหาที่เป็นอุปสรรคมาก ได้แก่ แรงงานไทยโดยเฉลี่ยมีการศึกษาต่ำ การขาดช่างเทคนิคที่มีความสามารถ ยังไม่มีการพัฒนาช่างเทคนิคที่ตรงกับความต้องการในการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ ปัญหาการขาดวิสัยทัศน์ของช่างเทคนิคที่จะทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัญหาของการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นโดยต่อเนื่อง
·        ความไม่พร้อมต่อการเปิดเสรีของตลาดสินค้า ตลาดทุน และตลาดเงิน
เนื่องจากมีข้ออ่อนด้อยในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประสบกับปัญหาสำคัญ คือ การแข่งขันกับต่างประเทศ อันเนื่องมาจากแนวโน้มการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน ของนานาประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) โดยภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ภาคการค้าปลีกที่ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อได้ เนื่องจากวิสาหกิจดังกล่าวมีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนและการบริหารจัดการที่ดีกว่า นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องประสบกับปัญหาการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนภาคบริการที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันกับบริการของต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน
·        ข้อจำกัดด้านธรรมาภิบาล
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดด้านธรรมาภิบาล ทั้งในเรื่องการจัดทำระบบบัญชีที่โปร่งใส การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นผลทำให้มีความอ่อนด้อยและเสียเปรียบวิสาหกิจขนาดใหญ่ การที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนไม่น้อยเป็นธุรกิจครอบครัว มีผลให้การตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายธุรกิจและระดับปฏิบัติการดำเนินการโดยเจ้าของธุรกิจเพียงบุคคลเดียวหรือกลุ่มเดียว ขาดการใช้ข้อมูลที่เป็นระบบในการบริหารจัดการ ขาดระบบงานที่ชัดเจน รวมทั้งยังขาดแนวคิดในการสร้างจิตสำนึกและแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรในองค์กรที่จะนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคมาใช้
·        ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
o   วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบได้ เนื่องจากปัญหาของกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอง คือ การขาดมาตรฐานด้านการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการจัดทำบัญชีธุรกิจที่ได้มาตรฐาน
o   วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าและเป็นเงินทุนในระยะยาวได้

สิ่งที่น่าคิดต่อ...หากเราเป็น SME คือ...
แล้วอะไรคือ "ปัจจัยสำคัญเร่งด่วน" สำหรับ SME ไทย
ที่ต้องทำ...
เพื่อให้เติบโตได้...แข่งขันได้...

จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยต่อเนื่อง
ในรายละเอียด



…………………..
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) – ฐานของเศรษฐกิจประเทศ


ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) – ฐานของเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อกล่าวถึง “ผู้ประกอบการ” หรือ Entrepreneur แล้ว...
หลายคนอาจจะรู้สึกว่า...เฉยๆ
แต่หากเข้าใจลึกๆลงไป...ก็จะเห็นว่า...มีความ “สำคัญ” มากทีเดียว
ต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ...
ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา...เยอรมัน...
หรือ แม้แต่ประเทศไทย
เราคงจะคุ้นเคยกับ SME มาบ้าง...
SME (Small and Medium Enterprises/Entrepreneur)
ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการ/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม



ว่ากันเฉพาะที่เมืองไทยเรา...
ประเมินจากตัวเลข “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือ GDP
(ซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ)
ก็จะพบว่า...
SME มีสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของ GDP เลยทีเดียว (มูลค่า 3,417,860.7 ล้านบาท ในปี 2009)
นั่นแสดงว่า ผลผลิต(ผลิตภัณฑ์และการบริการ)ที่เกิดมาจาก SME มีมูลค่ามากถึง 40% ในแต่ละปี
และตัวเลขการส่งออกจากส่วนของ SME เท่ากับ 1,589,199.87 ล้านบาท (ปี 2009)
และตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่น่าสนใจคือ...
ยังคงมีประเด็นหรือปัญหาหลายๆด้านที่ทำให้ SME ไทย “เติบโตไม่ได้-อย่างที่ควรจะเป็น”
ซึ่งจะเห็นว่ามีประเด็นปัญหาแทบทุกด้านที่ต้องปรับแก้ไขกัน...
เช่น...
ปัญหาด้านการตลาด...
ปัญหาด้านบุคลากร/แรงงาน...
ปัญหาด้านเงินทุน...
ปัญหาด้านการบริหารจัดการ...
ปัญหาด้านเทคโนโลยี...
เป็นต้น

เท่าที่ผมได้ติดตามดูข้อมูลต่างๆ...
สิ่งที่พบเห็นคือ...
ยังไม่มีใครหรืองานวิจัยใดที่ระบุอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปว่า...
“อะไร?” หรือ “ปัจจัย/ประเด็นไหน?” ที่เป็นความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
ที่ SME ต้องจัดการ ปรับแก้ เปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติม...
เพื่อให้ SME ไทย สามารถสร้าง “ความสามารถในการแข่งขัน” หรือ Competitive Advantage
และสามารถเติบโตมากกว่านี้
แต่ก็ยังรู้สึกดีอยู่ว่า...
มีการกำหนดแผนส่งเสริม SME (ตอนนี้อยู่ในช่วงเวลาของฉบับที่ 3 สำหรับ พ.ศ. 2555-2559)
ที่มียุทธศาสตร์ (Strategies) ที่ชัดเจนมากขึ้น...
เพื่อช่วย SME ไทย ให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น

ก็หวังว่า...
ยุทธศาสตร์ (Strategies) ที่กำหนดมานั้น...
สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติ (Tactics) ได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญ...
ผู้ประกอบการ SME สามารถ “เข้าถึง” ได้จริงและได้รับการช่วยเหลือให้นำไปปฏิบัติ-
เป็นรูปธรรมได้จริง (Implementation)

…………………..
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ