วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความรู้ที่ “ไม่เท่ากัน”..ทำให้ความสำเร็จของธุรกิจแตกต่างกัน - Asymmetric Information


ความรู้ที่ “ไม่เท่ากัน”..ทำให้ความสำเร็จของธุรกิจแตกต่างกัน - Asymmetric Information

คนบางคนคิดว่ารู้เรื่องราวดีอย่างยิ่ง...
แล้วพยายามที่จะสรุปอะไรต่อมิอะไรด้วยความคิดตนเอง เพื่อกำหนดทิศทางของธุรกิจ
หลายครั้งพบว่า...ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจไว้

มองเพียงแค่นี้...ก็จะเห็นสิ่งที่น่าคิดอยู่ 2 ประเด็น คือ...
1.    คนคนนั้น มีความมั่นใจที่สูงเกินไป จนลืมมองไปว่า ความรู้ที่มีอยู่(ในการไปทำงาน) ยังไม่พอ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดโอกาสที่จะผิดพลาด(จากเป้าหมาย)ได้สูง
2.    การที่มีข้อมูลที่น้อยหรือไม่รอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องที่มีการเผลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Dynamic)นั้น มีความเสีย่งที่จะเกิดความล้มเหลวหรือผลลัพธ์เกิดไปในแบบอื่น(ที่อาจจะไม่ต้องการ)



ในโลกของความเป็นจริงแล้ว...
โอกาสที่เราจะมีข้อมูลหรือความรู้อย่างเท่าเทียมกันนั้น...
เป็นไปได้ยากมาก
หรือในศัพท์ทางธุรกิจ เรียกว่า Asymmetric information”...
หรือ Information Asymmetry
แปลความได้ว่า “การมีข้อมูล(หรือความรู้)หรือโอกาสที่จะมีข้อมูล(หรือความรู้) อย่างไม่เท่าเทียมกันทุกคนหรือทุกฝ่าย”...
บางท่านใช้ความว่า “อสมมาตรทางข้อมูล” ... ฟังดูทางการมากๆ (แต่ใครชอบและเข้าใจได้ดี ก็ ok ครับ)

ตัวอย่างเช่น...
ธนาคารที่เป็นแหล่งเงินขององค์กรธุรกิจต่างๆนั้น...
มักจะมีข้อมูล(หรือความรู้) ที่ได้เปรียบกว่า สถาบันการเงินอื่นๆ
ซึ่งก็คือ “การมีข้อมูล(หรือความรู้)ที่ไม่เท่าเทียมกัน” ในอุตสาหกรรม หรือ การแข่งขันที่เหมือนกัน
(ในที่นี้คือ อุตสาหกรรมทางการเงิน)
ด้วยเหตุนี้...
ธนาคารจึงมีโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตได้มากกว่า...
มีโอกาสที่จะรักษาหรือหาลูกค้าได้ดีกว่า...
ว่าง่ายๆก็คือ...
การรู้ข้อมูลของลูกค้าแต่ละราย...สามารถจัด campaign หรือ program ที่เหมาะสมและ...
ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดีกว่า...
หรืออีกทางหนึ่งก็คือ...
ลูกค้าที่มีความเสี่ยงทางการเงิน...เมื่อธนาคารรู้อย่างนี้ ก็ย่อมต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขี้น
ในการออกสินเชื่อหรือทำธุรกรรมต่างๆ
เป็นต้น

ว่าไปแล้ว...
คงไม่เพียงพบ “ความไม่เท่าเทียมกันของการมีข้อมูลหรือความรู้” ในอุตสาหกรรมทางการเงินเท่านั้น
อุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน
และที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ...
ประเทศที่มีผู้บริหารประเทศหรือนักการเมืองที่สามารถเข้าถึงข้อมูล/ความรู้ได้มากกว่าประชาชน
ก็ย่อมได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลที่มีมากกว่านี้
ขึ้นกับว่า “ท่านเหล่านี้” จะใช้ไปในทางไหน...
เพื่อตนเองและพวกพ้อง หรือ...
เพื่อประเทศชาติและประชาชน

นี่ก็คือเรื่องราวของ “ความไม่เท่าเทียมกันของการมีข้อมูล/ความรู้”
Information Asymmetry
ภาพที่ซ่อนอยู่ลึกๆ...
และลึกกว่าภาพของการไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและชนชั้น

....................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ – Execution


การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ – Execution

เรื่องกลยุทธ์นี่...
หากไม่พูดถึง การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้สำเร็จ หรือ Execution ก็อาจจะถือว่า “ขาดความสมบูรณ์”
บางทีก็เรียกว่า Implementation ก็ได้
หรือ บางทีก็อาจจะกล่าวกันรวมๆว่า Tactical ก็ไม่มีปัญหาใดๆ
สุดท้ายแล้วก็หมายถึง การเอาแผนงานที่วางไว้อย่างรัดกุม ไปทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นั่นเอง


ว่ากันกว้างๆแล้ว...
การจะทำให้ การนำแผนไปปฏิบัติ (Execute) ได้ดีนั้น...
คงต้องอิงไปถึงว่า “แผนกลยุทธ์เองก็ต้องดีเยี่ยมยอด” เหมือนกัน
แผนที่วางไว้ดี...การนำไปปฏิบัติก็ง่าย ทำได้สำเร็จ
อันนี้ว่ากันในเรื่อง ตัวแผนงานหรือกลยุทธ์

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่อง “คน” หรือ people
หรือ staff หรือ workforce ก็แล้วแต่จะเรียกกัน
เรื่องคนนี่ก็เกี่ยวข้องอย่างสำคัญมากกับ “ความสำเร็จของการนำแผนไปปฏิบัติ”
ที่อยากกล่าวไว้มี 2 ส่วนหรือ 2 มุม ด้วยกัน ได้แก่
1.   ส่วนของผู้รับผิดชอบในการสั่งการหรือจัดการ
ส่วนนี้หมายถึงผู้รับแผนกลยุทธ์ลงมาจัดการ หรืออาจเป็นผู้ที่อยู่ในส่วนการวางกลยุทธ์ด้วยก็ได้ แต่หน้าที่สำคัญคือ จัดการแผนกลยุทธ์ให้เกิดการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล
อย่างเช่น คนที่อยู่ในตำแหน่งการตลาด หรือ Marketing นั่นเอง
สิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งของคนในส่วนนี้คือ...
“การได้รับอำนาจเต็มในการจัดการหรือการสั่งการตามแผนกลยุทธ์”
เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่ต้องทำตามแผน เกิดการเชื่อฟังและยินดีรับแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติตามส่วนงานของตนให้สำเร็จ
เพราะหากขาดอำนาจสั่งการนี้แล้ว...
หน่วยงานต่างๆบางหน่วยงาน จะไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งจะส่งผลให้กลยุทธ์ที่วางไว้ แม้จะดีเพียงใด ก็ไม่สามารถสร้างผลสำเร็จได้
ในสามก๊ก...
เราก็จะเห็นว่า ขงเบ้ง ต้องได้รับอำนาจเต็มในการสั่งการตามแผนกลยุทธ์จากเล่าปี่
มิฉะนั้นแล้ว ขุนพลและนายทหารต่างๆหลายกอง จะไม่ทำตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งโอกาสจะชนะข้าศึกก็เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

2.   ส่วนของผู้รับการสั่งการหรือฝ่ายปฏิบัติการ
ตรงส่วนนี้ หมายถึง หน่วยงานต่างๆ (เช่น ฝ่ายขายในแต่ละพื้นที่) ที่ต้องรับแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จในหน่วยงานของตน ตามแผนปฏิบัติที่ได้รับการสั่งการจากผู้มีอำนาจในการจัดการแผน
สิ่งที่สำคัญ ที่ต้องมีในส่วนนี้คือ...
“วินัย” ซึ่งว่ากันลึกๆก็คือ “ความเชื่อฟัง(โดยตำแหน่งหน้าที่)”
เมื่อเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องมี “วินัย” ที่จะต้องเชื่อฟัง ผู้บังคับบัญชา
หากผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา...แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาคอยถามตลอดเวลาว่า “ทำอย่างนี้ไปทำไม?” หรือ “ทำอย่างนี้แล้ว จะได้ประโยชน์อะไร?” ...
อย่างนี้แล้ว เห็นว่ากองทัพหรือองค์กรนี้ คงต้องพ่ายแพ้หรือล่มสลายในที่สุดอย่างแน่นอน
จริงๆแล้ว คำถามนั้นมีได้...แต่ไม่จำเป็นต้องถามทันทีที่มีคำสั่งไปเสียทุกครั้ง
ในสามก๊ก...
หากกวนอู เตียวหุย จะต้องถามและได้คำตอบ(อย่างที่จะทำให้พอใจ) จากขงเบ้งแล้วล่ะก็...
กองทัพของเล่าปี่คงจะแพ้พ่ายและไม่สามารถยืนขึ้นมาเป็น หนึ่งในสามก๊ก ได้อย่างเช่นที่เป็นอยู่

ดังนั้น การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ หรือ Execution นั้น
ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 อย่าง คือ...
มีกลยุทธ์ที่ดี  ผู้สั่งการมีอำนาจเต็ม และ ผู้รับคำสั่งมีวินัยปฏิบัติงานตามคำสั่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์

................................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual Team...ตอนที่ 2


การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual Team...ตอนที่ 2

ครั้งที่ผ่านมา ได้กล่าวเป็นภาพรวมไป...
ครั้งนี้จึงอยากจะลงรายละเอียดของ “สิ่งที่ต้องรู้และทำให้เกิดขึ้น” เพื่อให้ “ทีมเครือข่าย” ประสบผลสำเร็จนั้น ดังนี้
·       Leader และ Trust – ผู้นำ/ผู้จัดการ และ ความเชื่อ
การทำงานร่วมกันไม่ว่าจะรูปแบบไหน... “ความเชื่อ” ระหว่างกัน คือสิ่งสำคัญ และอาจจะเป็นคำตอบของความสำเร็จในการทำงานเป็นทีมด้วยซ้ำไป
เรื่องของ “ผู้นำ” และ “ความเชื่อ” นั้น มันมักจะมาคู่กันเสมอ
และเรื่องที่ว่า “ผู้นำที่ดี” นั้น เป็นอย่างไร? ...ประเด็นนี้มีคนกล่าว/เขียนไว้มากมายแล้ว ซึ่งก็ไม่ต่างกันนัก หาอ่านได้ทั่วไป (ใน blog นี้ก็มีให้อ่านในบทความเก่าๆครับ)


แต่ที่น่าสนใจคือ ... สิ่งที่คนทำงานในทีม Virual team ต้องการจะได้จากผู้นำ นี่สิ...น่าสนใจ
ข้อแนะนำนี้ คัดมาจากหนังสือของ K. Fisher and M. Fisher ครับ ได้แก่
1.    การได้รับความร่วมมือ มากกว่าที่จะถูกควบคุมโดยผู้จัดการ/ผู้นำ (Coordination)
2.    สามารถพบได้เสมอ (เมื่อลูกทีมต้องการ) (Accessibility)
3.    ข้อมูลที่ดีและไม่มากจนเกินไป (without overload)
4.    การให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะย้อนกลับ(มาที่ลูกทีม) มากกว่าเพียงแค่คำแนะนำ (Feedback)
5.    ความยุติธรรมหรือมีความเป็นธรรมกับทุกคน มากกว่าการรัก/ชอบพอในคนแค่บางคน (Fairness)
6.    การตัดสินใจ ที่ไม่ใช่การก้าวก่าย (Decisiveness)
7.    ความซื่อสัตย์/จริงใจ มากกว่าการชักใย/บงการ (Honesty)
8.    ใส่ใจในเรื่องการพัฒนาลูกทีม มากกว่าการปล่อยปละละเลย (Development)
9.    สร้างชุมชนของการร่วมกันทำงาน มากกว่าการเรียกคุยแบบตัวต่อตัว(เรียกเดี่ยว)(Community building)
10.           การให้ความเคารพหรือนับถือกัน มากกว่าการดูแลแบบครอบครัวหรือยอมๆกันไป (Respect)

·       Working tools – เครื่องมือที่ช่วยการทำงานร่วมกัน
แน่นอนว่า...การทำงานร่วมกันจากคนที่อยู่ต่างพื้นที่/ประเทศนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ “เครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ” ช่วยให้การทำงานแบบนี้ ประสบความสำเร็จได้
เครื่องมือที่ช่วยได้ดี ได้แก่
1.    ระบบวีดีโอประชุมทางไกล (VDO conference)
สิ่งที่ต้องใส่ใจคือ....
ช่วงเวลาใช้การสื่อสารร่วมกันนี้ ทุกฝ่ายต้องมีวินัยที่จะ “ตั้งใจ” จดจ่อกับประเด็นที่คุยกัน
เพราะมีเหตุการณ์ที่ว่า...ฝ่ายหนึ่งนำเสนออยู่ พอมุมกล้องกลับไปที่อีกฝ่ายหนึ่ง พบว่ากำลังนั่งกินอาหารอยู่...อันนี้ก็จะส่งผลให้การประชุมทางไกล ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้
2.    อีเมล์ทางอินเทอร์เน็ต (E-mail & Internet)
สิ่งที่ต้องใส่ใจคือ...
เมล์ต้องสื่อสารได้ครบถ้วน และ ถูกต้องตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อความ
ต้องไม่ยาวจนเกินไปที่จะทำให้ “ไม่อยากอ่าน”
และที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ...ทุกคนในเครือข่าย จะต้องหมั่นคอยเข้ามาตรวจสอบเมล์เป็นประจำ
มิฉะนั้น ก็ข้อมูลที่แต่ละคนได้ก็จะไม่ทันกันและไม่เท่ากัน...จะเป็นปัญหาในขั้นต่อๆไป
3.    ประชุมผ่านเครือข่ายเว็บ (Web Conference)
4.    โทรศัพท์
5.    เครือข่ายชุมชนสมัยใหม่ Social Network (Facebook, Twitter)
ปัจจุบันก็มีระบบการสื่อสารที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
เพียงแต่วิธีนี้ บางองค์กรอาจจะมองว่า “เปิดเผยมากเกินไป” ซึ่งอาจจะจริงในบางกรณี
แต่บางกรณีอาจมองในแง่บวกได้เช่นกัน เช่น ในฝ่ายที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว เช่นฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด อย่างนี้ก็ถือว่านำเครื่องมือเครือข่ายชุมชนออนไลน์เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
6.    ใช้บล็อก (Blog)

·       Communication and Feedback – การสื่อสารและเสนอแนะ
การสื่อสารและการส่งข้อมูลย้อนกลับ จะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพและต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าใน “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual team
เพราะบางองค์กรที่ทำงานร่วมกันหลายประเทศ แน่นอนว่า แนวคิด/วิธีคิด วัฒนธรรม ภาษา ก็แตกต่างกัน ยิ่งต้องทำผ่านเครื่องมือสื่อสารที่อาจขาดประสิทธิภาพด้วยแล้ว
การสื่อความก็ย่อมไม่ได้ความสมบูรณ์แบบที่คาดหวัง
จึงต้องคำนึงถึง “สิ่งรบกวน” หรือ Noise ของการสื่อสารระหว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงการใช้เครื่องมือสื่สารในการประชุม
วิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยได้คือ “การตั้งใจ” ในการสื่อสารระหว่างกัน โดยเฉพาะ “การตั้งใจฟัง” (Empathic Listening) ต้องเข้าใจถึงความรู้สึกที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่/ประเทศ ภาษาที่ต่างกันอาจให้ความเข้าใจกันไปแตกต่างกัน (อาจจะต้องเช็คความเข้าใจระหว่างกันบ่อยๆ ที่เรียกว่า Paraphrasing)
สุดท้ายคือ การเสนอแนะย้อนกลับ (Feedback) ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ให้กำลังใจในระหว่างคนในทีมเครือข่าย และคาดหวังถึงการพัฒนาไปข้างหน้า ให้เกิดความสำเร็จร่วมกัน

·       Decision making – การตัดสินใจ
กระบวนการตัดสินใจเอง ก็มีความแตกต่างกันระหว่าง virtual team กับการทำงานแบบอื่น
ที่สำคัญ คือ ...
ต้องตัดสินใจให้ “ทันการณ์” (Be timely) เพราะการทำงานในที่ห่างไกลกันนั้น โอกาสจะปรึกษากันได้บ่อยๆนั้น ทำได้ยาก
การตัดสินใจจึงต้องทันต่อเหตุการณ์ที่กำลังประสบอยู่ และแน่นอนว่าต้อง “ถูกต้อง” ด้วย ไม่ใช่ว่าตัดสินใจรวดเร็วแต่ผิดพลาด
สุดท้ายที่สำคัญต่อการตัดสินใจที่ดี คือ “การมีพันธสัญญา” หรือ Commitment ในทุกคนของทีมเครือข่าย (Consensus) เพราะหากทุกคนมีพันธสัญญาต่อกันและกันแล้ว การตัดสินใจจะออกมาในแนวทางที่ดีและมีโอกาสที่จะทำงานสำเร็จมากกว่า

.......................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual Team...ตอนที่ 1


การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual Team...ตอนที่ 1

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “การทำงานเป็นทีม” หรือ Team working
สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ...
คนทำงานแต่ละคนต้องมีงานอะไรบางอย่างที่ “ต้องช่วยกันทำ” (Collaborate)
หากไม่มีสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน...ก็ไม่ต้องใช้ “ทีม” ในการทำงาน


ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คำว่า “เครือข่าย” หรือ Virtual (บางคนใช้คำว่า “เสมือน” แต่ผมว่าอาจจะเข้าใจและนึกภาพยากไปหน่อย จึงขอใช้คำว่า “เครือข่าย” แทนในบทความนี้ครับ)
ประเด็นนี้เป็นการสร้างการร่วมทำงานของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่สามารถมาทำงานในที่แห่งเดียวกันได้
แต่จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันให้บังเกิดผลลัพธ์...ดังนั้น...
จึงต้องอาศัย “ตัวช่วย” ในการทำงานระหว่างหัวหน้าทีมกับลูกทีม และ ระหว่างลูกทีมด้วยกันเอง

“ตัวช่วย” ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ใช้กันได้หลายรูปแบบ
ที่เห็นได้ชัดเจน คือ...
การใช้การประชุมผ่านวีดีโอทางไกล VDO conference
หรือ การใช้อินเทอร์เน็ต Internet
เป็นต้น

การใช้การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย” หรือ Virtual Team นี้...
มักพบในองค์กรที่มีการทำงานข้ามพื้นที่ ซึ่งอยู่ค่อนข้างไกลกัน
อย่างเช่น...
องค์กรต่างชาติที่มีบริษัทลูกหรือบริษัทสาขาอยู่ในต่างประเทศหลายๆแห่ง
เช่น บริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา...บริษัทลูกอยู่กระจายหลายแห่งทั่วโลก (ไทย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม)
เป็นต้น
ดังนั้น การทำงานที่จะต้องมาเจอกันตลอดเวลาย่อมเป็นไปไม่ได้...
การประสานงาน สั่งงาน ตามงาน ประเมินงาน จึงต้องใช้การสื่อสารกันผ่านการทำงานแบบ “ทีมเครือข่าย” นี้ จึงจะทำงานได้รวดเร็วกว่า สมบูรณ์แบบมากกว่า และ สำเร็จได้จริง

สิ่งที่ต้องรู้และทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้ “ทีมเครือข่าย” ประสบผลสำเร็จนั้น มีดังนี้
1.    Leader – ผู้นำ และ ผู้จัดการ จะต้องมีภาวะผู้นำ Leadership และ การทำงานที่สอดคล้องกับ การทำงานในรูปแบบ “ทีมเครือข่าย”
2.    Trust – ต้องสร้าง “ความเชื่อ” ระหว่างกัน ทุกระดับ ซึ่งทำได้ยากกว่าการทำงานแบบพบกันหรือเห็นหน้ากัน
3.    Working tools – ต้องมีการใช้ “เครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ” ช่วยในการทำงานแบบนี้
4.    Communication and Feedback – การสื่อสารและการส่งข้อมูลย้อนกลับ จะต้องทำอย่างมีประสอทธิภาพและต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานแบบพบเห็นหน้ากัน
5.    Decision making – กระบวนการตัดสินใจเอง ก็มีความแตกต่างกันกับการทำงานแบบอื่น

โดยสรุป จะเห็นว่า การทงานแบบ “ทีมเครือข่าย” ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรลักษณะต่างๆได้ หลายรูปแบบ

ครั้งหน้าจะลงรายละเอียดของลักษณะสำคัญของ “ทีมเครือข่าย” ดังที่กล่าวทิ้งประเด็นไว้ข้างต้น

.......................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ