วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจเกษตร “พันธุ์ใหม่” ในยุค AEC

ธุรกิจเกษตร “พันธุ์ใหม่” ในยุค AEC

อีกเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น คนในพื้นที่เอเชียแห่งนี้ จะมีชีวิตเกี่ยวข้องกันเป็นหนึ่งเดียว ในยุคที่กำแพงขวางกั้นระหว่างประเทศได้สิ้นสุดลง แม้ว่าจะมีประเด็นสำคัญอยู่หลายด้าน แต่ที่พูดถึงกันมากคงหนีไม่พ้นประเด็นด้านเศรษฐกิจ หรือ AEC ซึ่งเหตุผลก็คงเพราะมันเกี่ยวกับปากท้องของคนในแต่ละประเทศโดยตรงนั่นเอง มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและจับต้องได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นทางด้านความร่วมมือทางการเมืองและสังคมของเอเชีย

เมื่อถึงเวลานั้น ถามว่าภาคเกษตรกรรมจะอยู่อย่างไร หากให้เห็นภาพชัดมากขึ้น คำถามคงมีว่า “วันนี้ภาคเกษตร พร้อมแล้วใช่หรือไม่?” และหากให้เดาคำตอบ คนที่ชอบว่า “ใช่” คงมีสัดส่วนที่น้อยกว่า (หรือน้อยมาก) ดังนั้น คำถามถัดไปที่สำคัญคงเป็น “แล้วภาคเกษตร จะทำอะไรได้บ้าง เพิ่มให้มีความพร้อมมากขึ้น?” บทความนี้จึงอยากขอเสนอแนะแนวคิด แนวทางและวิธีปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้คนที่อยู่ในภาคเกษตรมีความพร้อมมากขึ้น และกลายเป็น “พันธุ์ใหม่” ในการเข้าสู่ AEC อย่างมั่นใจและยั่งยืน(ในที่สุด)

1.       AEC คืออะไร? ใครได้ ใครเสียประโยชน์?
เท่าที่คนส่วนใหญ่ทราบ คงจะเป็นขนาดที่ใหญ่โต ด้วยประชากรรวม 10 ประเทศ เท่ากับ 600 ล้านคน คงจะไม่อธิบายละเอียดในที่นี้ แต่สิ่งที่อยากให้คิดมากกว่าเพียงแค่การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC คือ มันมีมุมอื่นๆประกอบที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ ประเด็นทางด้านการเมืองและ ด้านสังคม ที่ส่งผลต่อกันและกันตลอดเวลา และอีกเรื่องที่เป็นความความท้าทายของประชาคมอาเซียน ก็คือ พื้นที่แห่ง “ความหลากหลาย” ของ 10 ล้านคนนั่นเอง
ดังนั้น คนที่จะได้ประโยชน์คือ คนที่มองเห็นโอกาสทั้งภายใน AEC และนอก AEC เพราะนอกจากจะเป็นตลาดของการผลิตที่ใหญ่ต่อโลกแล้ว ประชาคมอาเซียนยังเป็น “ตลาดบริโภค” ขนาดใหญ่ด้วย (600 ล้านคน)

2.       การเข้าใจในเรื่อง “ห่วงโซ่” การผลิต (หรือห่วงโซ่อุปทาน)
“การผลิต” ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตรหรือภาคอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มี “ห่วงโซ่” การผลิตที่คล้ายๆกัน ได้แก่ ต้นสาย กลางสาย และปลายสายการผลิต (อาจเรียกเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก็ได้) ต้องเข้าใจถึงกระบวนการไหลของแต่ละขั้นตอน และต้องคิดและเห็นทั้งหมดของห่วงโซ่การผลิต จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเองอยู่ตรง “จุดไหน” ของห่วงโซ่ เพื่อจะสามารถประเมินได้ว่าเราจะผลิตและแข่งขันได้อย่างไร 

3.       การประเมิน “ความเสี่ยง” และจัดการควบคุม
หากใช้รูปแบบของ “ห่วงโซ่การผลิต” มาดู ก็จะรู้ว่า “ความเสี่ยง” มันเกิดขึ้นได้ทุกจุดของกระบวนการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ ต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือธุรกิจของเราได้ เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือลดผลกระทบของความเสี่ยงนั้นๆ เช่น หากเราต้องผลิตสิ่งที่ขายสู่ผู้บริโภค อาจจะต้องดูนโยบายหรือระเบียบกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคว่ามีอะไรบ้าง และเรามีส่วนไหนที่มีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมหรือหยุดการผลิตหรือไม่ หรือหากเราเป็นคนที่ต้องส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิต เราต้องรู้ว่าโรงงานกำหนดสเปคหรือระดับคุณภาพในระดับใด เพื่อการผลิตที่เป็นไปตามกำหนดของโรงงาน ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงล่วงหน้า เป็นต้น

4.       ความเข้าใจและการจัดการด้าน “การตลาด”
แน่นอนว่า ยุคนี้อะไรๆก็ดูคนจะให้น้ำหนักไปที่ “การตลาด” กันมาก เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม หรือระดับโลก
และแน่นอนว่า “การตลาด” นั้นสำคัญมาก คนที่เข้าใจและใช้อย่างถูกต้อง ถูกจังหวะเวลา และถูกกลุ่มลูกค้าคาดหวัง ย่อมสามารถพบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่ประเด็นสำคัญ คือ “หลัก หรือ แนวคิด”ทางด้านการตลาดนั้น มีมากมายเหลือเกิน และยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แล้วเราจะเลือกใช้หลักไหนที่จะเหมาะสม เรื่องนี้เป็น “ศิลป์” และ “ความเก๋า หรือ ประสบการณ์” ของคนทำการตลาดเป็นสำคัญ แต่อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะเข้าใจหลักใหญ่ๆอยู่ 2 เรื่อง อันได้แก่ การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และ หลัก 4P ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) สถานที่จำหน่าย (Place) และ การส่งเสริมการตลาด (Promotion) หลังจากนั้น ก็ลองสร้างแผนการตลาดของเราเอง รวมถึงหาที่ปรึกษาที่ช่วยดูว่าแผนการตลาดมีความเป็นไปได้เพียงไรที่จะสำเร็จ อันนี้คือเบื้องต้นของการตลาด

5.       การปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย “เทคโนโลยี” หรือ “นวัตกรรม”
หากจะวัดโอกาสของความสำเร็จแล้ว การวัด “ประสิทธิภาพ” ของการผลิต น่าจะเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องด้วยกัน เช่น คนงาน กระบวนการ วัตถุดิบ เทคนิค การตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น จำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมและสม่ำเสมอ เพื่อผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลในตอนสุดท้าย
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพดีอยู่เสมอหรือดียิ่งขึ้น นั่นคือ การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการ เช่น การใช้เครื่องจักรเพื่อทุ่งแรง การใช้โครงสร้างที่ทำให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอมากขึ้น การมีระบบตรวจสอบที่ง่ายและคนงานสามารถใช้ในการเพิ่มผลผลิต เป็นต้น
ส่วนประเด็นการได้มาซึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้น ก็คงมีสองทางหลักๆ ได้แก่ ซื้อหรือรับมาจากภายนอก และสร้างเองภายใน แน่นอนว่าซื้อเข้ามาย่อมมีค่าใช้จ่าย แต่การสร้างเองภายในก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา การเลือกวิธีใดนั้น ก็ต้องประเมินเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันดู จะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายและเหมาะสมกับองค์กร

6.       เรื่องของ “คน”  
เรื่องนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ “สำคัญและยากที่สุด” ในการบริหารจัดการ อย่างในช่วงที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมาก พยายามสร้างองค์กรให้เป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” จริงๆก็คือ การทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานสูงขึ้น ด้วยการที่คนงานสามารถใช้ศักยภาพของตนเองในแต่ละคนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในองค์กรให้ดีเลิศที่สุด ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการทำงานและการผลิต การมีนวัตกรรมเพื่อให้องค์กรเติบโต เป็นต้น เอาเข้าจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกับลักษณะของคนแถบเอเชียเรา
ในกรณี AEC ที่เปิดประเทศมากขึ้น การที่มีแรงงานต่างชาติข้ามไปทำงานระหว่างกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากคือ ภาษาและวิถีชีวิตที่ต่างกัน เรื่องภาษาก็จะส่งผลต่อความเรียนรู้ และความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพงานนี่สุด ส่วนเรื่องวิถีชีวิตที่ต่างกัน จะส่งผลต่อการบริหารงาน เช่น ความต้องการของคนงานที่ต่างกัน ฝ่ายบริหารจะต้องวางนโยบายที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะให้คนงานมี “แรงจูงใจ” ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามคาดหรือสูงกว่าเป้าหมาย เป็นต้น

                ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องรู้และปฏิบัติ เพื่อสร้างความพร้อมและความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันในและนอกประชาคมอาเซียน เช่น ประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ประเด็นด้านเปิดการค้าเสรีระหว่างภูมิภาค ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน หรือประเด็นด้านความปลอดภัยในชีวิตและการกระจายของโรคภัยระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะต้องค่อยๆเรียนรู้และปรับให้สอดคล้องกันไป หากเราเข้าใจตัวเรา องค์กรเรา อุตสาหกรรมที่เราอยู่ ภูมิภาคที่เรามุ่งจะทำตลาด เราก็จะรู้ได้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นประเด็นไหนที่ “ใกล้ตัว” มากที่สุด เราก็มุ่งประเด็นนั้นๆก่อน


                สิ่งสุดท้ายคือ “ประเทศไทย” ถูกมองว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” สำคัญของโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประชาคมอาเซียน หากเราเข้าใจและเชื่ออย่างนั้น เราก็จะมุ่งพัฒนาตัวเราเองและสามารถเลือกใช้ “ข้อดี” ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถของคน ผลิตภัณฑ์คุณภาพ การบริการที่เป็นเลิศ และภูมิประเทศที่น่าสนใจ ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเวทีระดับไหนของโลกได้อย่างแน่นอน.