ความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้วย “บูรณาการ”
ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก
คงยากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถจัดการแก้ไขได้
และดูเหมือนแต่ละประเด็นของปัญหาก็เชื่อมโยงกันไปเหมือน “งูกินหาง”
หรือพูดง่ายๆว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะไม่จบลงง่ายๆ
แต่กลับจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมาหรือซ้อนขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น
การแก้ไขปัญหาใดๆในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
มา “ร่วมแรงร่วมใจกัน” จัดการแก้ไข พูดให้ทันยุคทันสมัยก็ต้องบอกว่า ต้องมา
“บูรณาการ” ในการจัดการปัญหานั่นเอง
คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ
หลายคนเรียกติดปากว่า “ซีเอสอาร์” (CSR) นั้น
คิดว่าแทบทุกองค์กรต่างปฏิบัติ เพียงแต่โดยเนื้อหาสาระของการปฏิบัตินั้น
อาจจะต่างกันไป เพราะจริงๆแล้ว การปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มันค่อนข้างกว้าง
มีรูปแบบได้หลากหลาย ตั้งแต่ การบริจาค การทำบุญ การให้พนักงานทำเรื่องจิตอาสา
การช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน
ไปจนถึงนำเข้ามาเป็นกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งจะปฏิบัติต่อเนื่องหลายปี เช่น
โครงการสร้างอาชีพให้ชุมชน(ที่องค์กรมุ่งช่วยเหลือ)ได้ช่วยเหลือพึ่งตนเองได้
เป็นต้น สิ่งที่พบคือ โดยส่วนมากแล้ว มักจะเป็นโครงการที่องค์กรธุรกิจ
“คิดขึ้นมาเอง” หรือ “เข้าไปร่วมกับโครงการภาครัฐ”
แม้ว่าจะเป็นการทำสิ่งที่ดีต่อสังคม
แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
เหตุผลส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนี้
ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำ
เป็นเพียงแค่ข้อเสนอหรือการเรียกร้องจากภาคสังคมให้เกิดความรับผิดชอบจากทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมบ้าง
เพราะภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมนั้น ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก
แล้วยังปล่อยเศษเหลือ ขยะ หรือของเสียที่เป็นพิษกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย
อีกเรื่องที่ดูจะเป็นภาพที่ไม่ดีของภาคธุรกิจ คือ
“การฟอกเขียว” หรือเข้าใจง่ายๆว่า การสร้างภาพให้ดูเป็นองค์กรที่รักษ์โลก
ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการหาประโยชน์จากกระแส “รักษ์โลก” (หรือ Green)
ถ้าสังเกตในชีวิตประจำวัน
มักจะเห็นการโฆษณาของหลายๆบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
หรือมีกระบวนการลดการปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติ แน่นอนว่าบางบริษัทก็ทำเช่นนั้นจริงๆ
แต่ก็มีบางบริษัทที่ใช้เป็นช่องทาง(แบบผิดจริยธรรม)ในการสร้างภาพหรือโฆษณาเกินจริง
หรือแม้แต่การบอกข้อมูลไม่ครบถ้วนเพื่อหวังให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สิ่งเหล่านี้ก็คือ “การฟอกเขียว” นั่นเอง
ประเด็นนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดภาพลบมากยิ่งขึ้นของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น คำตอบของเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม
จึงน่าจะอยู่ที่การหันหน้าเข้ามาพูดคุยและร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
หรือ “บูรณาการ” ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันนั่นเอง
โดยปัจจัยที่สำคัญในการบูรณาการให้เกิดความสำเร็จนั้น มีดังนี้
1.
การร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
ต้องเอาคนที่เกี่ยวข้องมา “จับเข่า” คุยกัน
การจะทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้ผลระยะยาวก็ต้องเอาทั้งคนในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม
มานั่งคุยกับภาคประชาชน ชุมชนที่อยู่รอบข้าง
ภาครัฐที่มีบทบาทในการออกกฎระเบียบและควบคุม อาจจะรวมไปถึงภาคการศึกษาและวิจัยอย่างเช่น
มหาวิทยาลัยที่มุ่งสนใจในประเด็นปัญหาดังกล่าว เมื่อพร้อมทุกฝ่ายแล้ว ก็ต้องมี “ผู้นำ”
หรือผู้เป็นประธานในการพูดคุยและวางแผนร่วม
เพื่อให้สามารถเดินไปสู่ทางออกของการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งจะแก้ไข
ซึ่งจุดนี้ถือเป็น “จุดสตาร์ท” หรือจุดเริ่มที่สำคัญที่สุด
หากไม่สามารถพูดคุยกันได้ การดำเนินไปขั้นตอนถัดๆไปคงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย
กรณีหนึ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง
คือ รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ โดยในวารสาร The Economist
ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้นำเสนอการประชุมทางด้านความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจในประเทศสิงคโปร์
โดยทางรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชนของสิงคโปร์ได้ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
ซึ่งการประกาศออกมาเช่นนี้
ถือเป็นการแสดงความเป็นผู้นำระดับโลกของสิงคโปร์ที่จะสร้างสังคมโลกที่น่าอยู่และมุ่งเน้นด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
2.
การใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรจากภาคธุรกิจ
แน่นอนว่าภาคธุรกิจนั้น
มีองค์ความรู้ ความสามารถและทรัพยากรที่สามารถช่วยจัดการกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจริงๆแล้ว ก็สมควรที่จะต้องทำ เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคอุตสากรรมนั้น
ได้ใช้ทรัพยากรโลก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงยังปล่อยของเสียออกมาสู่ธรรมชาติ
เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนจากกระบวนการผลิต น้ำเสีย ขยะต่างๆ ดังนั้น
จึงควรนำความรู้ ความสามารถและทรัพยากรบางส่วน มาช่วยเหลือสังคมด้วย
อย่างกรณีที่มีการเรียกร้องว่า ภาคธุรกิจเองก็ถือเป็น “พลเมืองโลก”
ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกัน
อย่างน้อยๆก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
หรือจะให้ดีกว่านั้น ภาคธุรกิจต้องดำเนินงานในเชิง “ป้องกัน”
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมปัญหาที่มีอยู่
เมื่อกล่าวในกรณีการป้องกันปัญหานี้
ตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัทพรมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ที่มีผู้นำอย่าง เรย์ แอนเดอร์สัน(ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท) ได้ริเริ่มกระบวนการ
“ป้องกัน” ปัญหา โดยปรับระบบโรงงานและองค์กรใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 1994
เพื่อไม่ให้บริษัทก่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
ซึ่งนอกจากจะป้องกันและลดปัญหาแล้ว ยังทำให้บริษัทเติบโตมากขึ้นอีกด้วย บริษัทนี้จึงยืนยันได้ว่า การทำเพื่อสังคม
“ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย” แต่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและผลกำไรในระยะยาว หากทำอย่างถูกต้องและมีระบบ
3.
เป้าหมายองค์กรที่ประกอบด้วยเป้าหมายทางสังคมและเป้าหมายเพื่อผลกำไร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า
การทำธุรกิจก็ต้องหวังผลกำไร
แต่การจะทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแบบบูรณาการให้ได้ผลในระยะยาวนั้น องค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะทำแบบเดิมๆคงไม่ได้
จำเป็นที่จะต้องสร้าง “เป้าหมายองค์กรแบบใหม่”
ที่มีทั้งเป้าหมายเพื่อหวังผลกำไรและเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย
เพราะการตั้งเป้าหมายลักษณะเช่นนี้
จะทำให้ทุกแผนกในบริษัทยังคงมุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโต
โดยที่ไม่ละทิ้งการทำเพื่อสังคมไปพร้อมๆกันและตลอดเวลา
เพราะการปฏิบัติความรับผิดชอบต่อสังคมแบบเดิมๆนั้น มักจะทำกันเป็นช่วงๆ
เป็นโครงการระยะสั้นๆ อาจะวันเดียว หรือสัปดาห์เดียว
ผลกระทบต่อสังคมจะน้อยและสั้นเกินไปที่จะทำให้สังคมและชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง
4.
การสร้างนวัตกรรมเพื่อหวังผลระยะยาว
มาถึงขั้นตอนรูปธรรมในการปฏิบัติ
หลังจากผ่านกระบวนการร่วมมือร่วมใจในการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนมาแล้ว การปฏิบัติในลักษณะเช่นเดิม
เช่น จิตอาสาแบบเดิมแต่เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน แบบนี้อาจจะได้ผลระยะสั้น
การทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแบบบูรณาการและได้ผลระยะยาวนั้น
อาจจะต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา และอาจจะแยกออกมาจากหน่วยธุรกิจเดิมของภาคธุรกิจ
ให้มีลักษณะจำเพาะที่จะตอบโจทย์ในการจัดการปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น
กรณีของภาวะทุพโภชนาการของเด็กที่บังคลาเทศ โดยสถิติพบว่า 1 ใน 2 เด็กบังคลาเทศจัดอยู่ในภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็น
บริษัทดานอนได้ร่วมมือกับ ดอกเตอร์ยูนัส (ผู้ก่อตั้งธนาคารคนยากที่บังคลาเทศ
และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ)
สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้ให้พ้นจากภาวะดังกล่าว
ซึ่งบริษัทดานอนได้ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษและจำหน่ายในราคาที่เด็กซื้อกินได้
นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ได้ประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคม ทำให้เกิดผลดีและแก้ไขปัญหาสังคมได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง
เป็นต้น