วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

VRIO โมเดลกับ “การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน”

VRIO โมเดลกับ “การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน”

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในขององค์กรนั้น ทำได้หลายวิธี
ที่รู้จักกันดี และผมเห็นใช้กันบ่อยมากๆ คือ
Value Chain Analysis ของอาจารย์ M.E. Porter (ซึ่งท่านก็มีโมเดลอีกหลายๆตัวที่ดังๆ เช่น Five Forces Model เป็นต้น)

แต่ครั้งนี้ อยากจะกล่าวถึง อีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจ
ซึ่งโมเดลตัวนี้ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการ ทรัพยากร ขององค์กรอีกด้วย
นั่นคือ...
‘ VRIO framework ’ ของ Barney ซึ่งมีความหมายดังนี้ คือ...
V       = Value (เกี่ยวกับข้อได้เปรียบ)
R       = Rareness (เกี่ยวกับคู่แข่งมีหรือไม่มี)
I        = Imitability (เกี่ยวกับต้นทุนการเลียนแบบ)
O       = Organization (เกี่ยวกับการจัดการใช้ประโยชน์)



Value (เกี่ยวกับข้อได้เปรียบ)
เมื่อองค์กรถูกจัดตั้งขึ้นมา ก็ย่อมต้องมีส่วนประกอบสำคัญ คือ “ทรัพยากร” ต่างๆ ในองค์กร เช่น คน(ความรู้และทักษะ) สินทรัพย์ กระบวนการ(เช่น กระบวนการทางการตลาด เป็นต้น) และอีกหลายอย่าง
เมื่อเราจะประเมินในประเด็น Value นี้ เราต้องมาดูว่าทรัพยากรที่เรามีที่กล่าวมานั้น มีประโยชน์กับองค์กรมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือสร้าง “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” ในตลาดหรืออุตสาหกรรมที่องค์กรเราอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน
หากได้เปรียบในการแข่งขัน แสดงว่า ทรัพยากรตัวนั้น เป็น Core competency ขององค์กรของเรา หรือเรียกง่ายๆว่าเป็น “จุดแข็ง” ก็ได้
เช่น บุคลากรของเรามีความรู้ความสามารถหรือทักษะในด้านการตลาดอย่างมาก โดยสามารถสร้างกระบวนการทางการตลาดได้อย่างชัดเจน และนำไปสู่การปฏิบัติที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างกำไรหรือยอดขายได้สูง

Rareness (เกี่ยวกับคู่แข่งมีหรือไม่มี)
ประเด็นนี้จะมุ่งประเมิน “เปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน” ในตลาด โดยอาจจะสัมพันธ์กับข้อแรกในเรื่อง Value คือ...
ทรัพยากรที่เรามี “คิดว่า” มี Value หรือเป็นจุดแข็งนั้น หากนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง แล้วพบว่า “คู่แข่งก็มีเหมือนกัน” นี่แสดงว่า ทรัพยากรตัวนั้น อาจไม่ใช่ Value หรือจุดแข็งขององค์กรแล้ว
ประเด็นนี้ก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เอาไว้ตรวจสอบหรือตอบคำถามว่า “ทรัพยากรที่เราคิดว่าได้เปรียบนั้น จริงหรือไม่?” นั่นเอง

 Imitability (เกี่ยวกับต้นทุนการเลียนแบบ)
ประเด็นนี้ก็ใช้ต่อเนื่องกับข้อแรกเรื่อง Value เหมือนกัน
คือเมื่อเราประเมินแล้วว่า ทรัพยากรตัวนี้เป็นจุดแข็งของเรา สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ...
ประเมินว่า “คู่แข่งขันสำคัญของเรานั้น สามารถเลียนแบบได้ยากหรือง่ายเพียงใด?” ซึ่งก็จะไปสัมพันธ์กับประเด็นอีกหนึ่งอย่างว่า “หากคู่แข่งจะเลียนแบบ จะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน?”
เช่น ในกรณี Value ของเราคือ ทรัพยากรด้าน “คน” การเลียนแบบ ก็คงยากสักหน่อย หรือ หากคู่แข่งจะเลียนแบบก็อาจต้องลงทุนในการฝึกอบรมบุคลากรอย่างหนักเพื่อสู้กับองค์กรของเรา
จริงๆวิธีหนึ่งที่ง่ายสำหรับคู่แข่งที่มักทำกัน คือ “ซื้อตัว” ไปอยู่กับคู่แข่งเลย
(เร็ว ง่าย แค่จ่ายตังค์ – ใช้ได้กับบางคนเท่านั้นครับ)

Organization (เกี่ยวกับการจัดการใช้ประโยชน์)
ประเด็นนี้ก็สำคัญมากทีเดียว...
เพราะถึงแม้องค์กรจะมีทรัพยากรที่ดีเลิศ มี Value และ การเลียนแบบก็ยาก แต่หากองค์กรไม่รู้จักวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ ก็อาจจะไม่ต่างกับว่า เราไม่มีทรัพยากรนั้นๆอยู่เลยในองค์กร
ดังนั้น...
องค์กรต้องประเมินทรัพยากร ไปพร้อมๆกับการมีแผนหรือกระบวนการที่จะใช้ทรัพยากรนั้นๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กรณีเรื่อง “คนที่มีความรู้ความสามารถ” นั้น
คำหนึ่งที่ผมว่าเราทุกคนคุ้ยเคยดี คือ...
put the right man…
      to the right job…
         at the right time
เพิ่มเติมอีกส่วนคือ...
ในเรื่องการจัดการและบริหารงานบริหารคน
มีบางท่านให้เพิ่มส่วนนี้เข้าไปด้วย คือ...
“…with the right Manager!”
เพื่อการจัดการคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศครับผม

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 กรกฎาคม 2556 เวลา 17:47

    ขอบคุณค่ะ ทำให้เข้าใจได้มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ดีมากค่ะ ขอบคุณนะค่ะ สำหรับเนื้อหาดีๆ มีสาระแบบนี้ กำลังทำรายงานพอดี แต่ไม่เข้าใจความหมายแต่ละตัว ช่วยได้เยอะเลย :)

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ12 กรกฎาคม 2557 เวลา 13:44

    ขอบคุณนะค่ะ ตรงประเด็นที่ต้องการ เข้าใจง่าย เห็นภาพเลยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณที่ให้กำลังใจมาทุกคนครับ ... คงต้องส่งความขอบพระคุณต่อไปยังคณาจารย์ Executive MBA มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยครับ ... ความรู้ได้มาจากท่าน... และบางส่วนเอาเพิ่มเติมมาจากการอ่านครับผม

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณนะครับ กะลังจะไปเขียนสอบพอดี

    ตอบลบ