วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วย “บูรณาการ”

ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วย “บูรณาการ”

ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก คงยากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถจัดการแก้ไขได้ และดูเหมือนแต่ละประเด็นของปัญหาก็เชื่อมโยงกันไปเหมือน “งูกินหาง” หรือพูดง่ายๆว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะไม่จบลงง่ายๆ แต่กลับจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมาหรือซ้อนขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาใดๆในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มา “ร่วมแรงร่วมใจกัน” จัดการแก้ไข พูดให้ทันยุคทันสมัยก็ต้องบอกว่า ต้องมา “บูรณาการ” ในการจัดการปัญหานั่นเอง

คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ หลายคนเรียกติดปากว่า “ซีเอสอาร์” (CSR) นั้น คิดว่าแทบทุกองค์กรต่างปฏิบัติ เพียงแต่โดยเนื้อหาสาระของการปฏิบัตินั้น อาจจะต่างกันไป เพราะจริงๆแล้ว การปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มันค่อนข้างกว้าง มีรูปแบบได้หลากหลาย ตั้งแต่ การบริจาค การทำบุญ การให้พนักงานทำเรื่องจิตอาสา การช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน ไปจนถึงนำเข้ามาเป็นกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งจะปฏิบัติต่อเนื่องหลายปี เช่น โครงการสร้างอาชีพให้ชุมชน(ที่องค์กรมุ่งช่วยเหลือ)ได้ช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ เป็นต้น สิ่งที่พบคือ โดยส่วนมากแล้ว มักจะเป็นโครงการที่องค์กรธุรกิจ “คิดขึ้นมาเอง” หรือ “เข้าไปร่วมกับโครงการภาครัฐ” แม้ว่าจะเป็นการทำสิ่งที่ดีต่อสังคม แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เหตุผลส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำ เป็นเพียงแค่ข้อเสนอหรือการเรียกร้องจากภาคสังคมให้เกิดความรับผิดชอบจากทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมบ้าง เพราะภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมนั้น ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก แล้วยังปล่อยเศษเหลือ ขยะ หรือของเสียที่เป็นพิษกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย

อีกเรื่องที่ดูจะเป็นภาพที่ไม่ดีของภาคธุรกิจ คือ “การฟอกเขียว” หรือเข้าใจง่ายๆว่า การสร้างภาพให้ดูเป็นองค์กรที่รักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการหาประโยชน์จากกระแส “รักษ์โลก” (หรือ Green) ถ้าสังเกตในชีวิตประจำวัน มักจะเห็นการโฆษณาของหลายๆบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือมีกระบวนการลดการปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติ แน่นอนว่าบางบริษัทก็ทำเช่นนั้นจริงๆ แต่ก็มีบางบริษัทที่ใช้เป็นช่องทาง(แบบผิดจริยธรรม)ในการสร้างภาพหรือโฆษณาเกินจริง หรือแม้แต่การบอกข้อมูลไม่ครบถ้วนเพื่อหวังให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สิ่งเหล่านี้ก็คือ “การฟอกเขียว” นั่นเอง ประเด็นนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดภาพลบมากยิ่งขึ้นของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม  



ดังนั้น คำตอบของเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จึงน่าจะอยู่ที่การหันหน้าเข้ามาพูดคุยและร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ หรือ “บูรณาการ” ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันนั่นเอง โดยปัจจัยที่สำคัญในการบูรณาการให้เกิดความสำเร็จนั้น มีดังนี้

1.       การร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ต้องเอาคนที่เกี่ยวข้องมา “จับเข่า” คุยกัน การจะทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้ผลระยะยาวก็ต้องเอาทั้งคนในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม มานั่งคุยกับภาคประชาชน ชุมชนที่อยู่รอบข้าง ภาครัฐที่มีบทบาทในการออกกฎระเบียบและควบคุม อาจจะรวมไปถึงภาคการศึกษาและวิจัยอย่างเช่น มหาวิทยาลัยที่มุ่งสนใจในประเด็นปัญหาดังกล่าว เมื่อพร้อมทุกฝ่ายแล้ว ก็ต้องมี “ผู้นำ” หรือผู้เป็นประธานในการพูดคุยและวางแผนร่วม เพื่อให้สามารถเดินไปสู่ทางออกของการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งจะแก้ไข ซึ่งจุดนี้ถือเป็น “จุดสตาร์ท” หรือจุดเริ่มที่สำคัญที่สุด หากไม่สามารถพูดคุยกันได้ การดำเนินไปขั้นตอนถัดๆไปคงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย
กรณีหนึ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง คือ รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ โดยในวารสาร The Economist ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้นำเสนอการประชุมทางด้านความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ โดยทางรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชนของสิงคโปร์ได้ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งการประกาศออกมาเช่นนี้ ถือเป็นการแสดงความเป็นผู้นำระดับโลกของสิงคโปร์ที่จะสร้างสังคมโลกที่น่าอยู่และมุ่งเน้นด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

2.       การใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรจากภาคธุรกิจ
แน่นอนว่าภาคธุรกิจนั้น มีองค์ความรู้ ความสามารถและทรัพยากรที่สามารถช่วยจัดการกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริงๆแล้ว ก็สมควรที่จะต้องทำ เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคอุตสากรรมนั้น ได้ใช้ทรัพยากรโลก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงยังปล่อยของเสียออกมาสู่ธรรมชาติ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนจากกระบวนการผลิต น้ำเสีย ขยะต่างๆ ดังนั้น จึงควรนำความรู้ ความสามารถและทรัพยากรบางส่วน มาช่วยเหลือสังคมด้วย อย่างกรณีที่มีการเรียกร้องว่า ภาคธุรกิจเองก็ถือเป็น “พลเมืองโลก” ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกัน อย่างน้อยๆก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือจะให้ดีกว่านั้น ภาคธุรกิจต้องดำเนินงานในเชิง “ป้องกัน” ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมปัญหาที่มีอยู่
เมื่อกล่าวในกรณีการป้องกันปัญหานี้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัทพรมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีผู้นำอย่าง เรย์ แอนเดอร์สัน(ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท) ได้ริเริ่มกระบวนการ “ป้องกัน” ปัญหา โดยปรับระบบโรงงานและองค์กรใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 1994 เพื่อไม่ให้บริษัทก่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป ซึ่งนอกจากจะป้องกันและลดปัญหาแล้ว ยังทำให้บริษัทเติบโตมากขึ้นอีกด้วย  บริษัทนี้จึงยืนยันได้ว่า การทำเพื่อสังคม “ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย” แต่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและผลกำไรในระยะยาว หากทำอย่างถูกต้องและมีระบบ

3.       เป้าหมายองค์กรที่ประกอบด้วยเป้าหมายทางสังคมและเป้าหมายเพื่อผลกำไร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจก็ต้องหวังผลกำไร แต่การจะทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแบบบูรณาการให้ได้ผลในระยะยาวนั้น องค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะทำแบบเดิมๆคงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องสร้าง “เป้าหมายองค์กรแบบใหม่” ที่มีทั้งเป้าหมายเพื่อหวังผลกำไรและเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เพราะการตั้งเป้าหมายลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ทุกแผนกในบริษัทยังคงมุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโต โดยที่ไม่ละทิ้งการทำเพื่อสังคมไปพร้อมๆกันและตลอดเวลา เพราะการปฏิบัติความรับผิดชอบต่อสังคมแบบเดิมๆนั้น มักจะทำกันเป็นช่วงๆ เป็นโครงการระยะสั้นๆ อาจะวันเดียว หรือสัปดาห์เดียว ผลกระทบต่อสังคมจะน้อยและสั้นเกินไปที่จะทำให้สังคมและชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง

4.       การสร้างนวัตกรรมเพื่อหวังผลระยะยาว

มาถึงขั้นตอนรูปธรรมในการปฏิบัติ หลังจากผ่านกระบวนการร่วมมือร่วมใจในการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนมาแล้ว การปฏิบัติในลักษณะเช่นเดิม เช่น จิตอาสาแบบเดิมแต่เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน แบบนี้อาจจะได้ผลระยะสั้น การทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแบบบูรณาการและได้ผลระยะยาวนั้น อาจจะต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา และอาจจะแยกออกมาจากหน่วยธุรกิจเดิมของภาคธุรกิจ ให้มีลักษณะจำเพาะที่จะตอบโจทย์ในการจัดการปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีของภาวะทุพโภชนาการของเด็กที่บังคลาเทศ โดยสถิติพบว่า 1 ใน 2 เด็กบังคลาเทศจัดอยู่ในภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็น บริษัทดานอนได้ร่วมมือกับ ดอกเตอร์ยูนัส (ผู้ก่อตั้งธนาคารคนยากที่บังคลาเทศ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้ให้พ้นจากภาวะดังกล่าว ซึ่งบริษัทดานอนได้ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษและจำหน่ายในราคาที่เด็กซื้อกินได้ นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ได้ประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคม ทำให้เกิดผลดีและแก้ไขปัญหาสังคมได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง เป็นต้น  

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจเกษตร “พันธุ์ใหม่” ในยุค AEC

ธุรกิจเกษตร “พันธุ์ใหม่” ในยุค AEC

อีกเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น คนในพื้นที่เอเชียแห่งนี้ จะมีชีวิตเกี่ยวข้องกันเป็นหนึ่งเดียว ในยุคที่กำแพงขวางกั้นระหว่างประเทศได้สิ้นสุดลง แม้ว่าจะมีประเด็นสำคัญอยู่หลายด้าน แต่ที่พูดถึงกันมากคงหนีไม่พ้นประเด็นด้านเศรษฐกิจ หรือ AEC ซึ่งเหตุผลก็คงเพราะมันเกี่ยวกับปากท้องของคนในแต่ละประเทศโดยตรงนั่นเอง มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและจับต้องได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นทางด้านความร่วมมือทางการเมืองและสังคมของเอเชีย

เมื่อถึงเวลานั้น ถามว่าภาคเกษตรกรรมจะอยู่อย่างไร หากให้เห็นภาพชัดมากขึ้น คำถามคงมีว่า “วันนี้ภาคเกษตร พร้อมแล้วใช่หรือไม่?” และหากให้เดาคำตอบ คนที่ชอบว่า “ใช่” คงมีสัดส่วนที่น้อยกว่า (หรือน้อยมาก) ดังนั้น คำถามถัดไปที่สำคัญคงเป็น “แล้วภาคเกษตร จะทำอะไรได้บ้าง เพิ่มให้มีความพร้อมมากขึ้น?” บทความนี้จึงอยากขอเสนอแนะแนวคิด แนวทางและวิธีปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้คนที่อยู่ในภาคเกษตรมีความพร้อมมากขึ้น และกลายเป็น “พันธุ์ใหม่” ในการเข้าสู่ AEC อย่างมั่นใจและยั่งยืน(ในที่สุด)

1.       AEC คืออะไร? ใครได้ ใครเสียประโยชน์?
เท่าที่คนส่วนใหญ่ทราบ คงจะเป็นขนาดที่ใหญ่โต ด้วยประชากรรวม 10 ประเทศ เท่ากับ 600 ล้านคน คงจะไม่อธิบายละเอียดในที่นี้ แต่สิ่งที่อยากให้คิดมากกว่าเพียงแค่การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC คือ มันมีมุมอื่นๆประกอบที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ ประเด็นทางด้านการเมืองและ ด้านสังคม ที่ส่งผลต่อกันและกันตลอดเวลา และอีกเรื่องที่เป็นความความท้าทายของประชาคมอาเซียน ก็คือ พื้นที่แห่ง “ความหลากหลาย” ของ 10 ล้านคนนั่นเอง
ดังนั้น คนที่จะได้ประโยชน์คือ คนที่มองเห็นโอกาสทั้งภายใน AEC และนอก AEC เพราะนอกจากจะเป็นตลาดของการผลิตที่ใหญ่ต่อโลกแล้ว ประชาคมอาเซียนยังเป็น “ตลาดบริโภค” ขนาดใหญ่ด้วย (600 ล้านคน)

2.       การเข้าใจในเรื่อง “ห่วงโซ่” การผลิต (หรือห่วงโซ่อุปทาน)
“การผลิต” ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตรหรือภาคอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มี “ห่วงโซ่” การผลิตที่คล้ายๆกัน ได้แก่ ต้นสาย กลางสาย และปลายสายการผลิต (อาจเรียกเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก็ได้) ต้องเข้าใจถึงกระบวนการไหลของแต่ละขั้นตอน และต้องคิดและเห็นทั้งหมดของห่วงโซ่การผลิต จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเองอยู่ตรง “จุดไหน” ของห่วงโซ่ เพื่อจะสามารถประเมินได้ว่าเราจะผลิตและแข่งขันได้อย่างไร 

3.       การประเมิน “ความเสี่ยง” และจัดการควบคุม
หากใช้รูปแบบของ “ห่วงโซ่การผลิต” มาดู ก็จะรู้ว่า “ความเสี่ยง” มันเกิดขึ้นได้ทุกจุดของกระบวนการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ ต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือธุรกิจของเราได้ เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือลดผลกระทบของความเสี่ยงนั้นๆ เช่น หากเราต้องผลิตสิ่งที่ขายสู่ผู้บริโภค อาจจะต้องดูนโยบายหรือระเบียบกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคว่ามีอะไรบ้าง และเรามีส่วนไหนที่มีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมหรือหยุดการผลิตหรือไม่ หรือหากเราเป็นคนที่ต้องส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิต เราต้องรู้ว่าโรงงานกำหนดสเปคหรือระดับคุณภาพในระดับใด เพื่อการผลิตที่เป็นไปตามกำหนดของโรงงาน ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงล่วงหน้า เป็นต้น

4.       ความเข้าใจและการจัดการด้าน “การตลาด”
แน่นอนว่า ยุคนี้อะไรๆก็ดูคนจะให้น้ำหนักไปที่ “การตลาด” กันมาก เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม หรือระดับโลก
และแน่นอนว่า “การตลาด” นั้นสำคัญมาก คนที่เข้าใจและใช้อย่างถูกต้อง ถูกจังหวะเวลา และถูกกลุ่มลูกค้าคาดหวัง ย่อมสามารถพบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่ประเด็นสำคัญ คือ “หลัก หรือ แนวคิด”ทางด้านการตลาดนั้น มีมากมายเหลือเกิน และยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แล้วเราจะเลือกใช้หลักไหนที่จะเหมาะสม เรื่องนี้เป็น “ศิลป์” และ “ความเก๋า หรือ ประสบการณ์” ของคนทำการตลาดเป็นสำคัญ แต่อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะเข้าใจหลักใหญ่ๆอยู่ 2 เรื่อง อันได้แก่ การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และ หลัก 4P ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) สถานที่จำหน่าย (Place) และ การส่งเสริมการตลาด (Promotion) หลังจากนั้น ก็ลองสร้างแผนการตลาดของเราเอง รวมถึงหาที่ปรึกษาที่ช่วยดูว่าแผนการตลาดมีความเป็นไปได้เพียงไรที่จะสำเร็จ อันนี้คือเบื้องต้นของการตลาด

5.       การปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย “เทคโนโลยี” หรือ “นวัตกรรม”
หากจะวัดโอกาสของความสำเร็จแล้ว การวัด “ประสิทธิภาพ” ของการผลิต น่าจะเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องด้วยกัน เช่น คนงาน กระบวนการ วัตถุดิบ เทคนิค การตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น จำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมและสม่ำเสมอ เพื่อผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลในตอนสุดท้าย
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพดีอยู่เสมอหรือดียิ่งขึ้น นั่นคือ การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการ เช่น การใช้เครื่องจักรเพื่อทุ่งแรง การใช้โครงสร้างที่ทำให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอมากขึ้น การมีระบบตรวจสอบที่ง่ายและคนงานสามารถใช้ในการเพิ่มผลผลิต เป็นต้น
ส่วนประเด็นการได้มาซึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้น ก็คงมีสองทางหลักๆ ได้แก่ ซื้อหรือรับมาจากภายนอก และสร้างเองภายใน แน่นอนว่าซื้อเข้ามาย่อมมีค่าใช้จ่าย แต่การสร้างเองภายในก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา การเลือกวิธีใดนั้น ก็ต้องประเมินเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันดู จะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายและเหมาะสมกับองค์กร

6.       เรื่องของ “คน”  
เรื่องนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ “สำคัญและยากที่สุด” ในการบริหารจัดการ อย่างในช่วงที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมาก พยายามสร้างองค์กรให้เป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” จริงๆก็คือ การทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานสูงขึ้น ด้วยการที่คนงานสามารถใช้ศักยภาพของตนเองในแต่ละคนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในองค์กรให้ดีเลิศที่สุด ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการทำงานและการผลิต การมีนวัตกรรมเพื่อให้องค์กรเติบโต เป็นต้น เอาเข้าจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกับลักษณะของคนแถบเอเชียเรา
ในกรณี AEC ที่เปิดประเทศมากขึ้น การที่มีแรงงานต่างชาติข้ามไปทำงานระหว่างกัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากคือ ภาษาและวิถีชีวิตที่ต่างกัน เรื่องภาษาก็จะส่งผลต่อความเรียนรู้ และความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพงานนี่สุด ส่วนเรื่องวิถีชีวิตที่ต่างกัน จะส่งผลต่อการบริหารงาน เช่น ความต้องการของคนงานที่ต่างกัน ฝ่ายบริหารจะต้องวางนโยบายที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะให้คนงานมี “แรงจูงใจ” ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามคาดหรือสูงกว่าเป้าหมาย เป็นต้น

                ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องรู้และปฏิบัติ เพื่อสร้างความพร้อมและความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันในและนอกประชาคมอาเซียน เช่น ประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ประเด็นด้านเปิดการค้าเสรีระหว่างภูมิภาค ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน หรือประเด็นด้านความปลอดภัยในชีวิตและการกระจายของโรคภัยระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะต้องค่อยๆเรียนรู้และปรับให้สอดคล้องกันไป หากเราเข้าใจตัวเรา องค์กรเรา อุตสาหกรรมที่เราอยู่ ภูมิภาคที่เรามุ่งจะทำตลาด เราก็จะรู้ได้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นประเด็นไหนที่ “ใกล้ตัว” มากที่สุด เราก็มุ่งประเด็นนั้นๆก่อน


                สิ่งสุดท้ายคือ “ประเทศไทย” ถูกมองว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” สำคัญของโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประชาคมอาเซียน หากเราเข้าใจและเชื่ออย่างนั้น เราก็จะมุ่งพัฒนาตัวเราเองและสามารถเลือกใช้ “ข้อดี” ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถของคน ผลิตภัณฑ์คุณภาพ การบริการที่เป็นเลิศ และภูมิประเทศที่น่าสนใจ ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเวทีระดับไหนของโลกได้อย่างแน่นอน.    

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สร้าง “ความสำเร็จ” ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

สร้าง “ความสำเร็จ” ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

ด้วยขนาดที่เล็กหรือขนาดกลางๆของผู้ประกอบการ SME การไปต่อสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ก็มักจะเสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ต้องขายผลผลิตในราคาที่สูง อำนาจต่อรองก็น้อยลงไป ดังนั้น การจะทำให้กิจการสำเร็จตามเป้าหมายได้ จะต้องเลือกกลยุทธ์ในการแข่งขันที่เหมาะสมกับตนเอง
อีกประเด็นคือ ผู้ประกอบการ SME จำนวนมาก ที่มุ่งมั่นอยู่กับกระบวนการผลิตของตน เรียกได้ว่าชำนาญมาก รู้และเข้าใจทุกขั้นตอน จนลืมไปว่า “ความสำเร็จ” ของการดำเนินกิจการนั้น เก่งเพียงการผลิตของดีออกมาขายนั้น “ยังไม่พอ” ผู้ประกอบการต้องเข้าใจด้วยว่า “จะแข่งขันอย่างไร” เพื่อให้ผลผลิตขายได้ หรือ เป็นที่ต้องการ เพราะในตลาด ผู้ประกอบการ SME ต้องเจอกับการแข่งขันหลักๆ 2 ด้าน คือ ด้านแรกจากบริษัทใหญ่ๆที่ต้นทุนต่ำกว่า และอีกด้านจากผู้ประกอบการ SME ด้วยกันเองที่มักจะมีผลผลิตคล้ายๆกัน ดังนั้น การที่จะ “ชนะในเกมส์การแข่งขัน” เพียงแค่ผลผลิตที่ดีนั้น คงไม่พออย่างแน่นอน 
กลยุทธ์ในการแข่งขันนั้น แบ่งกว้างๆและให้เข้าใจง่ายๆ แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่

1.       กลยุทธ์ด้าน “ต้นทุนต่ำ”
ถือเป็นการมุ่งเน้นการทำให้เกิดผลลัพธ์ต้นทุนต่ำที่สุด หรือ อย่างน้อยต้องต่ำกว่าคู่แข่งขัน คิดง่ายๆว่า เมื่อต้นทุนต่ำกว่า แม้ขายผลผลิตในราคาเท่ากัน เราก็ย่อมได้กำไรที่มากกว่านั่นเอง เช่น ทั่วไปทำต้นทุนต่อการผลิตสุกรขุนหนึ่งตัวได้ 60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเราทำได้ที่ 56 บาท นั่นแสดงว่าเรา มีส่วนกำไรที่เพิ่มมาเมื่อเทียบกับรายอื่นๆถึง 4 บาทต่อกิโลกรัม หากขายสุกรไปที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เราก็มีกำไรมากกว่ารายอื่นๆตั้ง 400 บาทต่อหนึ่งตัวแล้ว ดูแล้วเหมือนง่าย แต่ในรายละเอียดแล้วจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคำว่า “ต้นทุนต่ำ” เพราะไม่ได้หมายถึงการที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ารายอื่นๆเสมอไป หากผู้ประกอบการเลือกที่จะมีรายจ่ายที่ต่ำสุด คงต้องเรียกว่าเป็น การเน้น “ค่าใช้จ่ายต่ำสุด” มากกว่า และไม่แน่ว่าผลผลิตที่ออกมา จะมีต้นทุนต่ำสุดเสมอไป เหตุที่เป็นอย่างนี้ เพราะการที่เน้น “ต้นทุนต่ำ” นั้น จะต้องเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเพียงพอ(ที่จะขายได้ในราคางาม) ซึ่งแสดงว่า เมื่อเน้นต้นทุน ต้องดูทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องผลผลิตที่จะออกมาด้วยนั่นเอง

2.       กลยุทธ์ด้าน “ความแตกต่าง”
กลยุทธ์นี้จะเน้นการสร้างความแตกต่างจากรายอื่นๆที่เป็นคู่แข่งขันในตลาด แน่นอนว่า ความแตกต่างบางเรื่องก็ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง เพียงแต่การมุ่งเน้นด้านนี้ จะไม่คาดหวังที่จะขายผลผลิตในราคาตลาดเหมือนรายอื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ งานศิลป์ที่ทำออกมาในลักษณะที่ไม่ซ้ำใคร หรือ การให้บริการที่แตกต่างทำให้ลูกค้าประทับใจและยอมจ่ายแม้ราคาจะสูงมากกว่าคู่แข่ง ตัวอย่างใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยคือ โทรศัพท์ไอโฟนของ Apple ที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากค่ายอื่นๆ แม้ราคาจะสูงมาก ก็มีคนยอมซื้อ เป็นต้น
ข้อสังเกตหนึ่งที่พอจะประเมินได้ว่า บริษัทกำลังใช้กลยุทธ์ “ความแตกต่าง” ก็คือ การมี “นวัตกรรม” ในองค์กร เพราะการทำนวัตกรรมนั้น มักจะมาพร้อมๆกับ “การลงทุน” ที่หวังผลทางธุรกิจในระยะยาว
อะไรคือ กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับ “ผู้ประกอบการ”
                โดยลักษณะของ “ความเป็นผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship) นั้น มักจะ “มีหัว” ในด้านการสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่การสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นและสร้างผลกำไรอย่างยาวนานนั้น ต้องมีการลงทุนค่อนข้างมาก ไม่เพียงแค่การทำนวัตกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้คนยอมรับและซื้อหรือใช้นวัตกรรมนั้นๆด้วย ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ที่สำคัญประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศ(เช่น อเมริกา) ตรงที่เราไม่มี “ผู้สนับสนุนด้านการเงินเพื่อการลงทุน (Venture Capital)” ที่สามารถทำให้นวัตกรรม(ที่อาจจะเป็นสิ่งสุดยอด)เกิดเป็นธุรกิจยิ่งใหญ่ได้เหมือนอย่างกูเกิล (Google) ดังนั้น เป้าหมายโดยเบื้องต้นของผู้ประกอบการไทย ควรเน้นที่กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ โดยอาจจะมีนวัตกรรมบางอย่างเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบ้าง เช่น การมีนวัตกรรมในการทำนาของเกษตรกรทำนาแบบประณีตหรือนาข้าวต้นเดียวเปียกสลับแห้ง ที่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย และได้ผลผลิตที่ดีในราคาที่ดี เป็นต้น

มุมมองต่อภาคการเกษตรของไทย

                หากผู้ประกอบการทางด้านเกษตรยังไม่ได้ขยายเข้าไปทำตลาดเอง ยังคงเป็นระดับการผลิต เพื่อส่งผลผลิตหรือวัตถุดิบป้อนโรงงานหรือผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆใน “ห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)” ผู้ประกอบการด้านเกษตรก็คงต้องเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายและสร้างผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด นั่นคือการใช้กลยุทธ์ “ต้นทุนต่ำ” ซึ่งอาจจะมีการทำนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนได้บ้าง อย่างที่ทราบกันดี ผลผลิตทางการเกษตรมันแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย สุกรขุนที่จะส่งออกไปขาย หน้าตารูปร่างมันก็เหมือนๆกัน ข้าวเปลือกหอมมะลิที่เก็บเกี่ยวจากเราและจากเพื่อนบ้าน มันก็เหมือนๆกัน ไม่แตกต่าง การจะทำให้อยู่รอดได้ในตลาดก็คงต้องเน้นการควบคุมต้นทุนเป็นหลัก ยกเว้นว่าผู้ประกอบการบางรายที่มุ่งความแตกต่าง เช่น การผลิตไก่ดำ เลี้ยงด้วยวัตถุดิบไร้สารพิษ(ออร์แกนิค) กินแล้วสุขภาพแข็งแรงยืนยาว(จริงหรือ?) อย่างนี้จึงจะสร้างรายได้งามๆ ดีกว่าการเลี้ยงไก่ทั่วๆไป แต่คำถามคือ ตลาดผู้บริโภคกว้างแค่ไหน ผลลัพธ์ต่อผู้บริโภคได้จริงดั่งคำกว่าอ้างหรือไม่ และการทำการตลาดในกิจการที่เฉพาะเช่นนี้จะทำได้ยาวนานเพียงใด เรื่องเหล่านี้ผู้ที่เลือกกลยุทธ์ความแตกต่าง ต้อง “ทำการบ้าน” มากกว่าและต้อง “มุ่งมั่น” มากกว่าด้วย จึงจะสำเร็จได้ดังหวัง.   

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คิดวิเคราะห์ และ คิดสร้างสรรค์ - Analytic & Creativity

คิดวิเคราะห์ และ คิดสร้างสรรค์ - Analytic & Creativity
 
มีทักษะ...หลายทักษะ...
ที่ "จำเป็น" ต่อการทำงานในปัจจุบัน

ทักษะหนึ่ง คือ...
การคิดวิเคราะห์...
นักวิเคราะห์มีความสำคัญต่อการ "บ่งชี้" ...
ชี้ถึงโอกาส หรือ อุปสรรค...
ชี้ถึง จุดอ่อน และ จุดแข็ง ขององค์กร...
ชี้ว่า...
เราจะมีประเด็นไหนบ้าง...
ที่ต้องใส่ใจ...
ต้องนำขึ้นมาวาง "บนโต๊ะ"...
เพื่อคิดต่อยอดต่อไป

อีกทักษะ คือ...
การคิดสร้างสรรค์...
องค์กรในปัจจุบัน...
จะต้องมีกระบวนการคิดสร้างสรรค์ในองค์กร...
อย่างสม่ำเสมอ...
ทำไม?...
ก็เพื่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือ...
 "นวัตกรรม" ...
ซึ่งนวัตกรรมนี่เอง...
ที่เป็น "หัวใจ" ของความสำเร็จ...
ในโลกธุรกิจในยุคนี้...
รวมถึงอนาคต



เราจะเข้มแข็งได้อย่างไร...
เราจะแข่งขันกับคนอื่นๆได้อย่างไร...
เราจะอยู่รอดได้อย่างไร...
หากเราไม่มี "นวัตกรรม"

คำถามคือ...
องค์กรเรามีคนที่ใช้ทักษะสองอย่างนี้...
มากน้อยแค่ไหน...
หากมีน้อยเกินไป...
เราจะ "เพิ่ม" ทักษะเหล่านี้...
ให้เกิดกับพนักงานในปัจจุบัน...
อย่างไร...
???

แนวทาง หาคำตอบ...
ท่านจงใช้การคิดวิเคราะห์ และ คิดสร้างสรรค์...
ตอบคำถามข้างบนนี้.

วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

Boss ที่แท้จริง...

Boss ที่แท้จริง...

"ผมค้นหาสิ่งที่โลกต้องการก่อน.. 
แล้วถึงลงมือคิดค้นสิ่งประดิษฐ์" 
... เอดิสัน 

แน่นอนว่า...
แนวคิดหนึ่งของการทำธุรกิจ (อาจจะเป็นส่วนมากเสียด้วยซ้ำ)...
คือ...
 การเอา "ลูกค้า" เป็นตัวตั้ง ... 

ในอดีต...
อาจจะเป็นยุคของการผลิต...แล้วขาย
ผลิตออกมา ก็ขายได้หมด
แต่ ปัจจุบัน... เปลี่ยนไป...
แนวทางเป็นแบบ "การตลาด" นำการขาย...
หา "ความต้องการของลูกค้า" ก่อน...
แล้วจึงสร้าง Product หรือ Service เพื่อ "ตอบสนอง" ความต้องการนั้นๆ
ธุรกิจจึงจะรุ่งโรจน์...
และแน่นอนว่า...ในอนาคต...
คงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน...
เนื่องจากกระแสที่มาแรง "หลายกระแส"...
โลกร้อน...
สิ่งแวดล้อม...
สุขภาพ...
อาหารปลอดภัย...
ความรับผิดชอบต่อสังคม(ขององค์กรธุรกิจ)...
ก็คงต้องจับกระแสกันเอง...
จับถูกก็ "ชนะ" ในเกมส์ไป



ในประเด็นของ "ลูกค้า คือ เป้าหมาย" นั้น...
ที่เป็นตำนานอยู่ตอนนี้...
คงหนีไม่พ้น...
P&G ในยุคของ A.G. Lafley ...
ถึงขั้น บางคนบอกว่า ...
เขาคือ "นักนวัตกรรม"ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเลยทีเดียว ...
ด้วยประโยคอมตะ ที่ว่า...

"เจ้านายที่แท้จริง คือ ผู้บริโภค" 

ไม่ใช่เพียงกล่าวคำพูดสวยหรูเพียงอย่างเดียว...
แต่เขาสามารถสื่อสารให้พนักงานทุกระดับ... "เข้าใจ"...
แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่...
เรียกได้ว่า "ผ่าตัดใหญ่" องค์กร...
ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอย่างมากมายขึ้น...
ทั้งภายในและภายนอกองค์กร...

การใช้หลักสำคัญ...
"Living it" และ "Working it" ...
โดยให้พนักงานทุกคน "แนบแน่น" กับผู้บริโภค
อยู่ กิน สังเกต เรียนรู้ แล้วก็ "คิด" ...
จนสามารถกลั่นออกมาเป็นนวัตกรรมได้ นั้น ...
ทำให้นึกถึง...รูปแบบการทำธุรกิจในอดีตของไทย...
บางธุรกิจ...
ที่พนักงานขาย "คลุก" อยู่กับลูกค้า...
ตั้งแต่ตื่นนอน...
จนกระทั่ง...เข้านอน...
นอกจากความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ "ลึกซึ้ง" แล้ว...
คิดว่า...
บริษัทเติบโตมาได้จนถึงปัจจุบันนี้...
ก็คงเพราะ ใช้ "หลัก" ที่คล้ายๆกันกับ P&G นั่นเอง.

..................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ครับผม
 

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

จะเล็กจะใหญ่...ก็ควรไปด้วยกัน - "ทำสิ่งดีต่อโลก" Sustainability

จะเล็กจะใหญ่...ก็ควรไปด้วยกัน - "ทำสิ่งดีต่อโลก" Sustainability

บริษัทใหญ่ๆ...
โดยเฉพาะบริษัทมหาชน...
มักจะต้องทำรายงานทางด้าน Sustainability report...
อาจจะเรียกกันในชื่ออื่นๆได้หลายชื่อ...
แต่โดยนัยคือ...
รายงานที่กล่าวถึง "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่องค์กรได้ปฏิบัติ...
เพื่อชุมชน...
สังคม...
ประเทศ...
หรือ สังคมโลก...



หากจะว่าไปแล้ว...
โลกของเราในปัจจุบัน...
กำลังเผชิญปัญหามากมายหลายมุม...
ปัญหาที่กำลังกล่าวกันมาก ก็คือ...
ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม...
ที่มีเหตุมาจาก "ภาคธุรกิจ" ...
ที่มุ่งสร้างกำไรต่อองค์กร...โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบ...
โดยเฉพาะผลกระทบต่อ "สภาพแวดล้อม"...
รวมถึง "ชุมชน" ที่บริษัทตั้งอยู่ใกล้ๆ

ประเด็นที่พูดกันมาก...
และเห็นจะเป็นประเด็นที่ปัจจุบัน...
ทุกคนให้ความตระหนัก ใส่ใจ และมุ่งแก้ไขมากที่สุด...
คือ "ภาวะโลกร้อน" Global warming นั่นเอง

ในอดีต...
เราอาจจะคิดว่า...
"มันก็แค่มลภาวะ" เรื่องธรรมดา...
การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...มันก็ย่อมจะมีของเสียออกมาบ้าง....
"ธรรมดา" ...

ปัจจุบัน...
ใครพูดเช่นนี้...คงโดนมองแบบแปลกๆ...
ว่าไปอยู่ไหนมา...
ทั้งบ้านทั้งเมือง...เค้าคำนึงเรื่องนี้...
มันใหญ่มาก...
มากจนไม่แน่ใจว่า...ทุกประเทศจะรับมือกับผลกระทบจากโลกร้อน..
ได้กันมากน้อยแค่ไหน (???)

แต่อย่างน้อย...
"ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย" ...
บริษัทใหญ่ๆ...ก็มีความกระตือรือร้นมากขึ้น...
แน่นอนว่า...บางแห่ง...
อาจจะทำเรื่อง CSR กันมานานแล้ว...
โดยเฉพาะเรื่องของการ "บริจาค" ...
แต่ ณ ปัจจุบัน...เราจะเห็นการทำในเรื่องของ Sustainability มากขึ้น
ซึ่งก็คือการทำสิ่งที่ส่งผลดีที่กว้างมากขึ้น...
และ "ยาวนาน" มากขึ้น...
เช่น การส่งเสริมการปลูกผักออร์แกนิก...
ลดการใช้สารเคมี...
การส่งเสริมให้ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น...
เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์...
...
... เป็นต้น

และล่าสุด...
แม้แต่ในงานวิจัยทางธุรกิจเอง...
ก็เริ่มทำวิจัย เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ บริษัทขนาดเล็ก...
หรือ SMEs ...
เห็นความสำคัญของการทำเรื่อง "การพัฒนาอย่างยั่งยืน"...
SD หรือ Sustainable Development ...
เพราะแน่นอนว่า...
"ทุกบริษัท" ... ไม่ว่าขนาดจะเล็กหรือใหญ่...
จะเป็นบริษัทผู้ผลิต หรือ ภาคบริการ...
ทุกบริษัท คือ "ส่วนหนึ่ง" ของสังคมโลก...
เราต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในโลกใบนี้...
"ร่วมกัน" ...

... "ทำสิ่งดีต่อโลก" ของเรา...ร่วมกัน...
ตั้งแต่วันนี้...
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่าง "มีสุข" ...
และ "อย่างยั่งยืน".

............................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ครับผม


วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Entrepreneurship and Innovation การเป็นผู้ประกอบการ กับ นวัตกรรม และความสำเร็จ

Entrepreneurship and Innovation 
การเป็นผู้ประกอบการ กับ นวัตกรรม และความสำเร็จ

มีงานวิจัยระบุไว้ชัดเจนว่า...
การเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship)นั้น... ส่งผลต่อความสำเร็จ
และ... เช่นกัน...
นวัตกรรม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ธุรกิจ ประสบความสำเร็จ...





โดยทั่วไป...
คำว่า "นวัตกรรม" คงมีความคุ้นเคยกันมาก...
(แม้จะยังมีการใช้ที่ไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงนักก็ตาม)
ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว...
นวัตกรรม จะต้องเกี่ยวพันกับ "ความคิดสร้างสรรค์" ...
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...
เหตุเพราะ นวัตกรรมนั้น...
...คือ "ความใหม่" ....
หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาในกระบวนการ...
ความใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ส่วนคำว่า.... "การเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship)" ...
หลายคนอาจจะไม่คุ้น...
หลายคน "เคย" ได้ยิน... แต่ยังไม่เข้าใจความหมาย...
อย่างน้อยก็คงเคยได้ยินคำว่า SME...
ซึ่งมาจาก "Small and Medium Entrepreneurs" นั่นเอง
แปลกันก็คงได้ว่า...
"ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม" ...
เรื่องนิยามและความหมายลึกๆ...คงหาอ่านได้ไม่ยาก
แต่สิ่งที่เป็นลักษณะของ "การเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship)" นั้น...
คงมีความสับสนพอสมควร

ที่อยากจะให้เป็นแนวทางของเรื่องนี้...
เอาเป็นว่า...
ใช้จากงานวิจัยน่าจะดีกว่า...
โดย "ลักษณะ" ของ การเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship)
มีด้วยกันหลักๆ 3 ประการ ได้แก่

1. Risk taking "กล้าเสี่ยง"
2. Proactiveness "มุ่งไปข้างหน้า ล่าความสำเร็จ"
3. Autonomy "เชื่อมั่น จัดการสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง" 

นี่คือบุคลิกของผู้ประกอบการ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในธุรกิจได้
โดยลักษณะเหล่าเอง...
จะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรม(Innovation)ด้วย

ดังนั้น ผู้ประกอบการ จึงมักนำเสนอ "สิ่งใหม่ๆ" ...
ออกสู่ตลาดเสมอ...
และแน่นอนด้วยความที่เป็น "รายกลางและรายย่อย" 
การมี "นวัตกรรม" ...
จำเป็นต่อความอยู่รอดและการแข่งขันกับรายอื่นๆ...
โดยเฉพาะรายใหญ่ ที่มี "กำลัง" มากกว่าหลายเท่าตัว

.................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ครับผม