วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ไทย


ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ไทย

อย่างที่กล่าวไว้ในบทความที่แล้วว่า...
SME ไทยนั้นมีบทบาทและความสำคัญต่อเศรษฐกิจรวมของชาติไทยอย่างมาก
คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40% ของ GDP



แต่การดำเนินกิจการให้รุ่งเรืองนั้น...ยังมีประเด็นอยู่หลายประเด็น
ที่ยังคงเป็นตัว “ฉุดรั้ง” ความเจริญเติบโตของ SME ไทย
ดังที่ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” SMEs ได้สรุปไว้ ดังนี้
·       ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ระดับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบการของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
·        ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ทำการผลิตชิ้นส่วน ตามการเขียนแบบของลูกค้าได้ ทำสินค้าตัวอย่างได้ สามารถออกแบบได้จากภาพหรือแคตตาล็อก และสามารถเขียนแบบตามคุณลักษณะที่ลูกค้ากำหนดได้ตามลำดับ แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ในขั้นที่สูงขึ้น เช่น การทำสินค้าต้นแบบ (Prototype Part) มีวิสาหกิจจำนวนน้อยที่มีความสามารถทำได้ ในขณะเดียวกันการใช้บริการการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตจากภายนอกเพิ่มเติมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังมีน้อยและอยู่ในวงจำกัด วิสาหกิจจำนวนมากไม่ได้มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตนเอง จึงทำให้ขาดความสามารถในการพัฒนางานวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น
·        ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยกิจการขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 15 คน มีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำธุรกิจเพียงร้อยละ 10 รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ยังมีน้อย และไม่ได้ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรมการควบคุมการจัดการทั่วไปเป็นหลัก เช่น โปรแกรมระบบบัญชีและการเงิน แต่ยังใช้โปรแกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบจัดการด้านการผลิตและการขายผลิตภัณฑ์โดยตรงค่อนข้างน้อย
·        ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการตลาด
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำตลาดเองหรือมีบริษัทในเครือทำตลาดให้ มีเพียงส่วนน้อยที่จ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดโดยตรง และส่วนใหญ่ยังขาดหน่วยงานการตลาด ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดี ขาดการกำหนดเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน และยังไม่มีการกำหนดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท รวมทั้งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจความพอใจของลูกค้า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ทำการผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของผู้จ้างผลิตและมีความสามารถในการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคปลายทางน้อย ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้ผู้ค้าส่งหรือตัวแทนการค้ามากกว่า
·        ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์
ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีข้อจำกัดอยู่มาก จนเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อวิสาหกิจทั้งระบบปัญหาที่เป็นอุปสรรคมาก ได้แก่ แรงงานไทยโดยเฉลี่ยมีการศึกษาต่ำ การขาดช่างเทคนิคที่มีความสามารถ ยังไม่มีการพัฒนาช่างเทคนิคที่ตรงกับความต้องการในการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ ปัญหาการขาดวิสัยทัศน์ของช่างเทคนิคที่จะทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัญหาของการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นโดยต่อเนื่อง
·        ความไม่พร้อมต่อการเปิดเสรีของตลาดสินค้า ตลาดทุน และตลาดเงิน
เนื่องจากมีข้ออ่อนด้อยในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประสบกับปัญหาสำคัญ คือ การแข่งขันกับต่างประเทศ อันเนื่องมาจากแนวโน้มการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน ของนานาประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) โดยภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ภาคการค้าปลีกที่ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อได้ เนื่องจากวิสาหกิจดังกล่าวมีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนและการบริหารจัดการที่ดีกว่า นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องประสบกับปัญหาการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนภาคบริการที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันกับบริการของต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน
·        ข้อจำกัดด้านธรรมาภิบาล
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดด้านธรรมาภิบาล ทั้งในเรื่องการจัดทำระบบบัญชีที่โปร่งใส การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นผลทำให้มีความอ่อนด้อยและเสียเปรียบวิสาหกิจขนาดใหญ่ การที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนไม่น้อยเป็นธุรกิจครอบครัว มีผลให้การตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายธุรกิจและระดับปฏิบัติการดำเนินการโดยเจ้าของธุรกิจเพียงบุคคลเดียวหรือกลุ่มเดียว ขาดการใช้ข้อมูลที่เป็นระบบในการบริหารจัดการ ขาดระบบงานที่ชัดเจน รวมทั้งยังขาดแนวคิดในการสร้างจิตสำนึกและแนวทางการปฏิบัติของบุคลากรในองค์กรที่จะนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคมาใช้
·        ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
o   วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบได้ เนื่องจากปัญหาของกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอง คือ การขาดมาตรฐานด้านการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการจัดทำบัญชีธุรกิจที่ได้มาตรฐาน
o   วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าและเป็นเงินทุนในระยะยาวได้

สิ่งที่น่าคิดต่อ...หากเราเป็น SME คือ...
แล้วอะไรคือ "ปัจจัยสำคัญเร่งด่วน" สำหรับ SME ไทย
ที่ต้องทำ...
เพื่อให้เติบโตได้...แข่งขันได้...

จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยต่อเนื่อง
ในรายละเอียด



…………………..
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น