วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ – Execution


การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ – Execution

เรื่องกลยุทธ์นี่...
หากไม่พูดถึง การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้สำเร็จ หรือ Execution ก็อาจจะถือว่า “ขาดความสมบูรณ์”
บางทีก็เรียกว่า Implementation ก็ได้
หรือ บางทีก็อาจจะกล่าวกันรวมๆว่า Tactical ก็ไม่มีปัญหาใดๆ
สุดท้ายแล้วก็หมายถึง การเอาแผนงานที่วางไว้อย่างรัดกุม ไปทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นั่นเอง


ว่ากันกว้างๆแล้ว...
การจะทำให้ การนำแผนไปปฏิบัติ (Execute) ได้ดีนั้น...
คงต้องอิงไปถึงว่า “แผนกลยุทธ์เองก็ต้องดีเยี่ยมยอด” เหมือนกัน
แผนที่วางไว้ดี...การนำไปปฏิบัติก็ง่าย ทำได้สำเร็จ
อันนี้ว่ากันในเรื่อง ตัวแผนงานหรือกลยุทธ์

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่อง “คน” หรือ people
หรือ staff หรือ workforce ก็แล้วแต่จะเรียกกัน
เรื่องคนนี่ก็เกี่ยวข้องอย่างสำคัญมากกับ “ความสำเร็จของการนำแผนไปปฏิบัติ”
ที่อยากกล่าวไว้มี 2 ส่วนหรือ 2 มุม ด้วยกัน ได้แก่
1.   ส่วนของผู้รับผิดชอบในการสั่งการหรือจัดการ
ส่วนนี้หมายถึงผู้รับแผนกลยุทธ์ลงมาจัดการ หรืออาจเป็นผู้ที่อยู่ในส่วนการวางกลยุทธ์ด้วยก็ได้ แต่หน้าที่สำคัญคือ จัดการแผนกลยุทธ์ให้เกิดการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล
อย่างเช่น คนที่อยู่ในตำแหน่งการตลาด หรือ Marketing นั่นเอง
สิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งของคนในส่วนนี้คือ...
“การได้รับอำนาจเต็มในการจัดการหรือการสั่งการตามแผนกลยุทธ์”
เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่ต้องทำตามแผน เกิดการเชื่อฟังและยินดีรับแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติตามส่วนงานของตนให้สำเร็จ
เพราะหากขาดอำนาจสั่งการนี้แล้ว...
หน่วยงานต่างๆบางหน่วยงาน จะไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งจะส่งผลให้กลยุทธ์ที่วางไว้ แม้จะดีเพียงใด ก็ไม่สามารถสร้างผลสำเร็จได้
ในสามก๊ก...
เราก็จะเห็นว่า ขงเบ้ง ต้องได้รับอำนาจเต็มในการสั่งการตามแผนกลยุทธ์จากเล่าปี่
มิฉะนั้นแล้ว ขุนพลและนายทหารต่างๆหลายกอง จะไม่ทำตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งโอกาสจะชนะข้าศึกก็เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

2.   ส่วนของผู้รับการสั่งการหรือฝ่ายปฏิบัติการ
ตรงส่วนนี้ หมายถึง หน่วยงานต่างๆ (เช่น ฝ่ายขายในแต่ละพื้นที่) ที่ต้องรับแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จในหน่วยงานของตน ตามแผนปฏิบัติที่ได้รับการสั่งการจากผู้มีอำนาจในการจัดการแผน
สิ่งที่สำคัญ ที่ต้องมีในส่วนนี้คือ...
“วินัย” ซึ่งว่ากันลึกๆก็คือ “ความเชื่อฟัง(โดยตำแหน่งหน้าที่)”
เมื่อเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องมี “วินัย” ที่จะต้องเชื่อฟัง ผู้บังคับบัญชา
หากผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา...แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาคอยถามตลอดเวลาว่า “ทำอย่างนี้ไปทำไม?” หรือ “ทำอย่างนี้แล้ว จะได้ประโยชน์อะไร?” ...
อย่างนี้แล้ว เห็นว่ากองทัพหรือองค์กรนี้ คงต้องพ่ายแพ้หรือล่มสลายในที่สุดอย่างแน่นอน
จริงๆแล้ว คำถามนั้นมีได้...แต่ไม่จำเป็นต้องถามทันทีที่มีคำสั่งไปเสียทุกครั้ง
ในสามก๊ก...
หากกวนอู เตียวหุย จะต้องถามและได้คำตอบ(อย่างที่จะทำให้พอใจ) จากขงเบ้งแล้วล่ะก็...
กองทัพของเล่าปี่คงจะแพ้พ่ายและไม่สามารถยืนขึ้นมาเป็น หนึ่งในสามก๊ก ได้อย่างเช่นที่เป็นอยู่

ดังนั้น การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ หรือ Execution นั้น
ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 อย่าง คือ...
มีกลยุทธ์ที่ดี  ผู้สั่งการมีอำนาจเต็ม และ ผู้รับคำสั่งมีวินัยปฏิบัติงานตามคำสั่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์

................................................................
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น