IMC “สู้กันให้สุดๆ” ทางการสื่อสารการตลาด...
พูดถึงการตลาดแล้ว...
เรื่องหนึ่ง ที่ถือว่าค่อนข้างใหม่พอสมควร..ที่นักการตลาด “ต้องรู้” ... นักธุรกิจ “ควรรู้”
คือ..เรื่อง “การสื่อสารทางการตลาดแบบบูรณาการ” หรือ IMC (=Integrated Marketing Communication)
จริงๆจะว่าไปแล้ว มันก็เกี่ยวพันกันไปหมดในเรื่องการตลาด
เราเคยพูดถึง 4P ของการทำส่วนผสมทางการตลาด หรือ Marketing Mix (ได้แก่ Product, Price, Place, Promotion)
ต่อมาเราก็พูดกันถึงการตลาดอีกด้านหนึ่ง คือ 4C (ได้แก่ Customer Values, Cost, Convenience, Communication)
ซึ่งพอมาลงรายละเอียดในแง่ของ “การสื่อสารทางการตลาด” ก็มีคนทำให้มันละเอียดหรือน่าสนใจเพิ่มขึ้น จนมาเป็น IMC (=Integrated Marketing Communication) สำหรับการตลาดในปัจจุบัน
คงเป็นเพราะเหตุแบบนี้กระมัง.. ที่คนชอบพูดว่า “การตลาดนั้น ดิ้นได้”
แต่ก็มีนักการตลาดบางท่านก็บอกว่า...ไม่ว่ามันจะแตกออกไปมากมายขนาดไหน มันก็ยังคงอยู่บนฐานความรู้อันเดียวกัน คือ 4P นี่ล่ะครับ...
(โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยครับผม)
IMC (=Integrated Marketing Communication) กับ 5 รูปแบบที่ต้องผสมผสานให้ลงตัวที่สุด
๑. การโฆษณา Advertising
ตรงประเด็นนี้ก็ชัดเจน คือ การสร้างรูปแบบการโฆษณา แล้วโฆษณาสื่อสารสิ่งต่างๆไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น โฆษณาผ่านทางทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต ซึ่งการโฆษณาในส่วนมากจะใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก จึงจำเป็นที่จะต้องประเมินว่าจะใช้การโฆษณาในช่วงใด อย่างไร และผลลัพธ์ที่ต้องความคาดหวังไว้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่(?)
๒. การประชาสัมพันธ์ Public Relation
เป็นการให้ข้อมูลที่มากขึ้น ละเอียดขึ้น โดยผ่านทางสื่อต่างๆที่กว้างมากกว่าการโฆษณา เช่น ลงหนังสือ หรือหนังสือพิมพ์ สร้างใบโบรชัวร์ขึ้นมาให้ข้อมูล ทำแผ่นพับ หรือ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตก็ได้
ผมเอาตัวอย่างที่ผมพึ่งเจอ แล้วชอบ ประทับใจมากๆในการสื่อสารข้อมูลและประชาสัมพันธ์ตรงไปถึงลูกค้าอย่างแนบเนียนและแน่นอน คือ...
การให้ข้อมูลทางโภชนาการของ SUBWAY ในกระดาษเช็ดปาก ที่ไม้เพียงข้อมูลของตนเอง แต่ยังให้ข้อมูลเปรียบเทียบกับคู่แข่ง คือ McDonald และ Burger-King อีกด้วย
ต้องบอกว่า...สุดยอดครับผม!
๓. การตลาดทางตรง Direct Marketing
เป็นการสื่อสารทางการตลาดอีกทางหนึ่งที่พบได้บ่อยมากๆ เช่น ใช้การโทรศัพท์ไปถึงตัวลูกค้าเลยโดยตรง การส่งไปรษณีย์ไปถึงบ้าน การส่งแคตาล็อกไปให้ถึงบ้าน
พบเห็นได้มากในพวกธุรกิจสินค้าทั่วไปจากห้างสรรพสินค้าและ Retails ต่างๆ
หรือพวกธนาคารและโทรศัพท์ที่โทรไปหาเราโดยตรง
ข้อควรจำ คือ... ระวังการไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้านะครับ... อาจเป็น “ดาบสองคม”
๔. การทำโปรโมชั่น หรือ ส่งเสริมการตลาดและการขาย Promotion
เป็นการสื่อสารไปพร้อมๆกับการนำเสนอ “ข้อเสนอ” ที่เอื้อประโยชน์ให้กับลูกค้า
เช่น สื่อสารว่า เป็นช่วงครบรอบ ๒๐ ปีของบริษัท จึงลดราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลอง เป็นต้น
ตรงนี้ก็สามารถคาดหวังในแง่การขายและการตลาดเพิ่มเติมได้ด้วย เช่น คาดหวังว่า ทำตรงนี้ไปแล้ว ลูกค้าจะซื้อของมากขึ้น หรือ ซื้อของถี่ขึ้น เป็นต้น
๕. การใช้พนักงานขาย Personal Selling
ประเด็นนี้ใช้มากขึ้นมาก จะเห็นว่าจะมีพนักงานขายที่ให้ข้อมูลสินค้าก่อนซื้อมากขึ้น ไม่ใช่พนักงานขายแบบเดิมๆที่จ้องแต่จะขายสินค้าอย่างเดียว โดยไม่มองประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ
จึงต้องมีการฝึกอบรม Training พนักงานขายมากขึ้น เพื่อสามารถสื่อสารทางการตลาด โดยเฉพาะ “ข้อความสำคัญทางการตลาด” Core Messages ไปสู่ลูกค้าคาดหวัง เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจในสินค้า แล้วตัดสินใจซื้อ รวมไปถึงคาดหวังว่าพนักงานจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องจนทำให้ลูกค้าใช้สินค้าได้อย่างตรงวัตถุประสงค์ ได้ผลดี แล้วกลับมาซื้อซ้ำในที่สุด
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น