วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การจัดการ “คนดื้อ” Difficult people

การจัดการ “คนดื้อ” Difficult people

คนดื้อมีอยู่ทุกที่” ...
เห็นประโยคนี้จากหนังสือ The Happy Employee แล้ว ต้องรีบอ่านเลยครับ
เพราะมันเป็นเรื่องจริง...



ผมเองเจอมาหลายปี
ตอนนี้ก็ยังเจออยู่ ทั้งปวดหัว และ “ปวดใจ” เหลือทน... ปวดหัวไม่เท่าไหว (กินยาก็หาย)
แต่ปวดใจนี่สิ “หนัก”... เพราะคนดื้อ มีหลายแบบ
ดื้อแบบตั้งใจ
และ ดื้อแบบไม่รู้ตัว(แบบไม่ตั้งใจ)
บางคนมันดื้อทั้งสองแบบเลย แล้วแต่อารมณ์ คือ พวก 2-in-1

แต่แน่นอนครับว่า ความที่เป็นฝ่ายบริหารจัดการ Management มันเลี่ยงไม่ได้หรอกครับที่จะต้องจัดการคนดื้อเหล่านี้ (อย่าลืมประโยคแรก “คนดื้อมีอยู่ทุกที่”)

เหตุผลคือ...
คนดื้อกำลังสร้างประเด็น หรือ ปัญหา ทำให้งานล่าช้า หรือ ไม่เกิดขึ้น
คนดื้อทำให้ คนอื่นๆเกิดอารมณ์ไม่อยากทำงาน(เช่น แรงบันดาลใจลดลง เซ็ง เบื่อ อยากออกจากทีม หัวหน้าทีมก็เหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องออกแรงกระตุ้นลูกทีมใหม่ทุกครั้งที่พวกคนดื้อก่อการ) – Disengagement !
งานไม่เดินหรือประสิทธิภาพต่ำ หรือหนักที่สุดคือ “งานล้ม”

หนังสือเล่มนี้ บอกแนวทางให้แก้ไขง่ายๆ คือ
  • เรียกคุยเดี่ยว
  • ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะกับงานที่กำลังเป็นปัญหา โดยให้เขาโดดเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
  • ให้คนดื้อรู้ว่า หากงานตามเป้าหมายนี้ไม่สำเร็จ เขาจะเสี่ยงในเรื่องงาน เราอาจจำเป็นต้องเล่น “บทหนัก” ตามกฎเกณฑ์

อีกแนวทางหนึ่งที่ผมเห็นด้วยว่าดีและชัดเจนมากกว่า คือ
6 วิธีที่จะลดความขัดแย้ง Conflict ของ Thomas and Kilmann ได้แก่
(ตรงนี้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังจะไปแก้ปัญหากับคนดื้อนะครับ)
  1. สร้างความสัมพันธ์ก่อนเสมอ (คนจะคุยกันมันก็ต้องเริ่มจากความไว้ใจ แม้สักนิดก็ยังดี)
  2. แยกให้ออก “อะไรคือปัญหา” ไม่มองเรื่องตัวคนว่ามีปัญหา (เพราะเราจะแก้เรื่องงาน)
  3. มุ่งสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงนั้น เพื่อหาประเด็น (ในตอนนั่งพูดคุยกัน เช่น ฟังอย่างตั้งใจ คิดแยกแยะประเด็นสำคัญให้ออกและมองหาเหตุผลสนับสนุนตรงประเด็นนั้น เป็นต้น)
  4. “ฟัง” เป็นหลัก พูดคุยเอาไว้ก่อน
  5. มุ่ง “ข้อมูลจริงหรือสิ่งที่เป็นเรื่องจริง” Facts (คือเก็บเอาประเด็นเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวในข้อมูลที่จะนำไปใช้แก้ปัญหา)
  6. หา “ทางเลือกที่เหมาะสม” ร่วมกัน และ ระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์  

ไม่แน่ใจว่าใช้ได้กับองค์กรไทยหรือเปล่า ?
แต่องค์กรต่างชาติ(โดยเฉพาะที่เน้นผลงานเป็นตัววัดผลคน) พอจะทำได้ครับ

ความจริงแล้ว...
ทุกคนมีความคิดเป็นของตนเอง...
ทุกคนเกิดมาคนละที่ ย่อมมีวิธีคิด ทัศนคติ ความชอบ ความอยาก ความเกลียด ต่างกัน...
อันนี้แน่นอนอยู่แล้วครับ...
เพียงแต่ในการใช้ชีวิต... โดยเฉพาะการทำงานนั้น...
เราต้องโตพอ (เป็นผู้ใหญ่พอ Maturity) ที่จะทำงานให้สำเร็จ ทั้งเป้าหมายส่วนตัวและส่วนรวม(องค์กร)
อันนี้ต้องเน้น... พวกดื้อบางคนสนใจแต่ “เป้าหมายตนเองสำเร็จ” ก็พอ
มองอย่างแคบๆ ไม่ใส่ใจกับเป้าหมายรวมขององค์กรแต่อย่างใด
อันนี้ผมถือว่า “ยังโตไม่พอ
คนที่เก่ง หรือที่จะเป็น “ความหวังขององค์กร” นั้น..
ต้องสามารถเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสได้เสมอ

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น